จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ผู้ว่าเมืองคอน พร้อมถือธงนำ..เพื่อสานต่อโครงการความร่วมมือฯ เฟส 2

เครือข่ายความร่วมมือการพัฒนา จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาสังคมและสุขภาวะจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ณ ห้องประชุมศูนย์โอทอป เทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนการพัฒนาสังคมและสุขภาวะจังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะที่ 2 ซึ่งเป็นการต่อยอดงานพัฒนาที่สำคัญ จากโครงการช่วงแรก จากฐานงานเดิมคือการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน-ตำบล การยกระดับแผนแม่บทระดับตำบลเป็นแผนระดับอำเภอ และระดับจังหวัดเต็มทั้งจังหวัด ทั้งนี้เพื่อให้การจัดทำแผนงบประมาณของจังหวัด สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ รวมทั้งการจัดการระบบสารสนเทศให้มีความเชื่อมโยงเป็นศูนย์บริการข้อมูลข่าวสารระดับอำเภอและจังหวัด โดยงานนี้ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการเกือบทุกหน่วยงานในจังหวัด และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานปกครองจังหวัดฯ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดฯ ภายใต้กองทุนสวัสดิการสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน (พอช.) ซึ่งสนับสนุนงานพัฒนาเชิงประเด็น และสนับสนุนงบประมาณการเชื่อมโยงขบวนในช่วงระยะเวลาดำเนินโครงการเฉียดสิบล้านบาท

ทั้งนี้โครงการความร่วมมือ ฯ มีจุดแข็งที่สำคัญคือ มีความหลากหลายของภาคีส่วนต่างๆ มีโครงสร้างคณะทำงานหลายระดับ มีการเชื่อมโยงกับกิจกรรมหลากหลาย มีทีมยุทธศาสตร์ที่มีประสบการณ์ และมีการพบปะกันสม่ำเสมอ มีการปรับกลยุทธ์การทำงาน มีศูนย์ประสานงานของเครือข่ายองค์กรชุมชน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อยู่พอสมควร ซึ่งทางด้านพื้นที่ก็มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง ทั้งด้านข้อมูล และกิจกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาข้อมูลและใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือ ใช้โอกาสที่สำคัญของโครงการความร่วมมือ ฯ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายจังหวัดและรัฐบาล เป็นตัวประสาน การใช้ฐานทุนเดิมของพื้นที่ในการเคลื่อนงาน ได้แก่ ข้อมูล/ความรู้คนทำงาน และมีพื้นที่ซึ่งดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนราชการโดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาชุมชนใช้คณะทำงานชุดเดียวกับโครงการความร่วมมือ ฯ และเน้นการจัดทำแผนแม่บทชุมชน นอกจากนั้นภาคีการพัฒนาได้พัฒนากระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงงานกับองค์กรภายนอกได้ ดีในระดับหนึ่ง


ทว่าเมื่อวิเคราะห์จุดอ่อนการดำเนินโครงการความร่วมมือ ฯ ในระยะที่ 1 ยังพบว่า ยังมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น การสื่อสารกับพื้นที่ ยังมีความถี่น้อย บางพื้นที่ยังมีข้อจำกัดเรื่องการเชื่อมโยงและบูรณาการกับส่วนราชการ คณะทำงานโครงการในบางพื้นที่มีข้อจำกัดด้านการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การทำงานในระยะหลังของโครงการทำให้พื้นที่เกิดความสับสน คณะทำงานมีความเข้าใจในยุทธศาสตร์ไม่เท่าเทียม มีข้อจำกัดในการติดตามงานในระยะเวลาที่เหมาะสม การไม่ไห้ความสำคัญกับการทำบัญชีรายรับ รายจ่ายครัวเรือนของคนในชุมชน แบบฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลมีความซับซ้อน คนทำงานเต็มเวลามีเพียง 1 คน ทำให้เกิดข้อจำกัดในการประสานงานและการบริหารจัดการ ซึ่งจะต้องนำข้อด้อยเหล่านี้มาปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินงานในช่วงต่อไป



สำหรับการดำเนินงานในระยะที่ 2 นั้นเป็นการนำแผนจากระยะแรกสู่การปฏิบัติ เพื่อนำร่อง เป็นหลัก


ส่วนบรรยากาศการประชุม นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาโครงการ เป็นประธานในที่ประชุม โดยนายประยงค์ หนูบุญคง ประธานกรรมการบริหารโครงการ(ร่วม) ได้นำเสนอความเป็นมาและผลการดำเนินงาน ในระยะที่ 1 ให้ที่ประชุมรับทราบ สำหรับผลที่เกิดในภาพรวมได้แก่ 1)เกิดกลไกคณะทำงาน 4 ระดับที่มีองค์ประกอบของบุคคลหลากหลาย ได้แก่ คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะทำงานระดับจังหวัด คณะทำงานระดับโซนพื้นที่ และคณะทำงานระดับตำบล 2) เกิดแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน 1550 หมู่บ้าน มีการปรับปรุงแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้านจำนวน 1000 หมู่บ้าน และระดับตำบล 132 ตำบล 3) เกิดยุทธศาสตร์ภาคประชาชน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การบริหารจัดการและเชื่อมโยง 2. ความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน 3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4. วัฒนธรรมประเพณี 5. เศรษฐกิจ 4) เกิดการเชื่อมประสานแผนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้จำนวน 64 พื้นที่ 1037 โครงการ งบประมาณ 257 ล้านบาท 5) มีการพัฒนาระบบสารสนเทศ อบต.จำนวน 29 พื้นที่ 6) มีความพร้อมเสนอโครงการที่เกินศักยภาพไปขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกจำนวน 54 ตำบล ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจำนวน 1.6 ล้านบาท และงบประมาณภายใต้นโยบายภาครัฐ จำนวน 165 ตำบล 7) เกิดความร่วมมือระดับพื้นที่ในการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนแม่บทชุมชน 8.)ชุมชนสามารถปฏิบัติการได้ตามแผนแม่บทชุมชน ซึ่งน่าสนใจว่ามีบทเรียนสำคัญของการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏว่าผู้ปฏิบัติงานโครงการยังขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่ได้ทำความเข้าใจกับภาคีพัฒนา รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงยังให้ความสำคัญกับโครงการน้อย ซึ่งมีข้อเสนอว่าต้องประชาสัมพันธ์และสร้างความกับทุกภาคส่วน รวมทั้งการประสานกับทางผู้บริหารในจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น


นายคณพัฒน์ ทองคำ ประธานกรรมการ(ร่วม)อีกท่านหนึ่ง ได้นำเสนอแผนการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งมีเป้าหมายนำร่อง 60 ตำบล โดยใช้พื้นที่ที่จัดสวัสดิการชุมชนซึ่งดำเนินงานร่วมกับ พอช. ด้านเนื้อหาในการดำเนินงาน ประกอบด้วย
1.การพัฒนาศักยภาพ (สร้างกระบวนการเรียนรู้ประเด็นต่างๆ , สร้างโอกาสการพัฒนาตนเอง, สร้างกลุ่มองค์กรต้นแบบ ,สร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ,การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสนับสนุนกระบวนการพัฒนา และการจัดการความรู้ )
2.ความมั่นคงและสุขภาวะของชุมชน (การพัฒนาคนและผู้นำ,พัฒนาศูนย์เรียนรู้,การจัดระบบสวัสดิการชุมชน, การส่งเสริมการเมืองภาคชุมชน, ส่งเสริมความเข้มแข็งของครอบครัว , การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด , ส่งเสริมองค์กรการเงินชุมชน ,และให้บทบาทเด็ก สตรี เยาวชน)
3.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (การส่งสริมพลังงานทดแทน , การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรชุมชน ,การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ )
4.วัฒนธรรมประเพณี (ฟื้นฟู วัฒนธรรมประเพณี ,การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม)
5.เศรษฐกิจ (อาชีพหลัก ,พัฒนาอาชีพเสริม ,ลดรายจ่าย ส่งเสริมการออม)

ด้านกลไกและวิธีการดำเนินงาน ได้แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 กลุ่มอำเภอ โดยมีผู้ประสานงานในทุกกลุ่มอำเภอ คอยจัดเก็บข้อมูล และประสานความร่วมมือระหว่างชุมชน ผู้บริหารท้องที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายสุชาติ สุวรรณกาศ ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “นับเป็นความโชคดีของจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีทีมงานจากหลากหลายภาคส่วนมาผนึกกำลังกันทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยตนเห็นว่าการทำงานหลังจากนี้อาจต้องกลับไปดูเรื่องกระบวนการทำแผนชุมชนระดับหมู่บ้าน ระดับตำบลกันใหม่ในพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งหมายถึงกลไกผู้รับผิดชอบในระดับอำเภอด้วย ซึ่งทางสำนักปลัดฯ มีแผนที่จะสร้างความเข้าใจและพัฒนาศักยภาพของปลัดอำเภอ ปลัดเทศบาลและปลัด อบต.ที่รับผิดชอบทุกพื้นที่ ในการดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งตนได้สั่งการไปแล้ว”
ด้านนายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการฯ กล่าวว่า “อยากฝากให้ทีมดำเนินงานโครงการนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน และการนำพลังงานในชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งภายใต้โครงการความร่วมมือนี้ น่าจะช่วยกระตุ้นให้กับผู้บริหารท้องถิ่นได้ตระหนักด้วย”


นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า “ตนเพิ่งมารับตำแหน่งที่นครศรีฯ เพียง 7 เดือน ยอมรับว่ายังไม่เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้มากนัก แต่อยากให้มั่นใจว่าตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการดำเนินงานเพื่อบูรณาการความร่วมมือ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด ตนพร้อมที่จะถือธงนำ ถ้าเป็นได้ ตนอยากให้ขยายเต็มพื้นที่ หรือนำร่องซัก 100 พื้นที่ แต่เบื้องต้นก็เห็นด้วยที่จะทำให้ชัดๆเด่น นำร่องก่อนตามแผนที่เสนอคือ 60 ตำบล และพร้อมที่จะลงเรือลำเดียวกัน”
นายภานุ ยังเสนอต่ออีกว่า ฐานข้อมูลที่จัดเก็บและมีรูปธรรมที่น่าสนใจ ควรจะจัดทำเป็นวีดิทัศน์เพื่อมานำเสนอความสัก 10-12 นาที เพื่อนำเสนอกับส่วนราชการต่างๆที่เกี่ยวข้อง และคาดหวังว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จด้วยดีเหมือนการดำเนินงานในช่วงแรก


โดยโครงการนี้มีระยะเวลาการดำเนินงาน 18 เดือน มีกรรมการบริหารโครงการ จำนวน 51 คนจากตัวแทนชุมชน ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ และตัวแทนภาคีสนับสนุน เช่น พอช. สกว. เป็นต้น


ด้านการบูรณาการงบประมาณ ในระยะที่ 2
ที่ทำการปกครองจังหวัดนครศรีธรรมราช 2,950,000 บาท
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 9,301,000 บาท (ทุกประเด็นงานปี 51-52)
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย 4,347,000 บาท
องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช 1,460,000 บาท
องค์การบริหารส่วนตำบลเป้าหมาย 9,120,000 บาท
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,000,000 บาท
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 1,600,000 บาท
กองทุนสวัสดิการสังคม 4,200,000 บาท
รวมงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน และสนับสนุนพื้นที่ในช่วงการดำเนินโครงการ 35,978,000 บาท

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในเดือนมิถุนายนนี้ มีดังนี้
- การสัมมนาคณะทำงานระดับตำบล
- จัดเก็บข้อมูลอื่นที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้เพื่อใช้ข้อมูลดังกล่าวไปหนุนการเรียนรู้และวางแผนการตัดสินใจของชุมชน
- ขับเคลื่อนงานตามประเด็นปัญหาหลักที่ชุมชนให้ความสนใจเป็นพิเศษ
- พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อหนุนให้ อปท. สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่จัดเก็บมาแล้วได้อย่างเป็นระบบ
- ติดตามและหนุนเสริมการเรียนรู้ที่จำเป็นต่อการช่วยให้ชุมชนมีวิธีคิด มุมมอง และข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการโครงการ/จัดการพื้นที่ของตนเองได้ โดยชุมชนอาจเลือกโครงการในแผนชุมชน จำนวนไม่เกิน 1-2 โครงการต่อตำบล ที่จะให้ทีมจังหวัดเข้าไปหนุนเสริม
- วิเคราะห์ศักยภาพตนเองของพื้นที่เป้าหมาย (หลังการดำเนินงาน)
- การสื่อสารสาธารณะ
- จัดสัมมนาสรุปบทเรียนการทำงาน 3 เดือน

.