จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พอช.จับมือราชภัฎ ร่วมขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน

พอช.ภาคใต้ รุกสถาบันวิชาการ
จับมือราชภัฎนครศรีฯ ลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชน





มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ จัดการเสวนาความร่วมมือทางวิชาการ “สภาองค์กรชุมชน : ก้าวสำคัญสู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น” ณ ห้องประชุมพรหมโยธี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเป็นแกนนำชุมชน กว่า 300 คน และเพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากการนี้ยังมีการลงนามบันทึกความร่วมมือในส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนด้วย


นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมาเป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนา และเป็นสักขีพยานในการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ได้กล่าวว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เห็นการร่วมมือของหน่วยงานสำคัญ ที่จะส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในวันนี้ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่มีพื้นที่กว้างขวางมาก ตนอาจจะมีภารกิจมากจนบางครั้งรู้สึกมีปัญหาในการบริหารเวลา แต่ตนให้ความสำคัญมาก กับงานภาคชุมชน หรือภาคประชาชน ทั้งนี้ตนเต็มที่กับการสนับสนุนชุมชนเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ พรบ.สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญ


นายสน รูปสูง รองประธานสภาพัฒนาการเมือง ได้กล่าวในการปาถกฐาพิเศษเรื่อง “สภาองค์กรชุมชนกับการพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง” โดยมีสาระสำคัญว่า บ้านเมืองเราวันนี้ตนไม่ค่อยแน่ใจว่ามีการปกครองในรูปแบบที่เป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ โดยดูได้จากข่าวคราวทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นรายวันในช่วงนี้ รวมทั้งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งในพื้นที่ทุกระดับที่มีการซื้อเสียงแจกของ ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายขั้นตอนของวงจรอุบาทว์ในวงการเมือง ดังนั้นภาคประชาชนจึงได้เสนอการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคชุมชนขึ้นมา โดยมีพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองและ พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก โดย พรบ.สภาองค์กรชุมชน เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการส่งเสริม ไม่ใช้กฎหมายให้ให้อำนาจ ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนไม่ใช่สภาที่มีอำนาจ ที่จะไปแข่งขันกับ สภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น บทบาทก็แตกต่างกัน ซึ่งสามารถที่จะทำงานร่วมกันและหนุนเสริมชุมชนด้วยกันได้เป็นอย่างดี


นอกจากนี้ ในการเสวนา “สภาองค์กรชุมชนกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” นายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า สภาพความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ กฎหมายที่ขาดความเป็นธรรม แม้กระทั่งการกระจายอำนาจการบริหารการปกครอง ที่ยังขาดความเป็นธรรมอย่างแท้จริง ระบบราชการมีอำนาจมากเกินไป หลายอย่างก็มีมีความซับซ้อน จนยากเกินกว่าที่จะใช้การเมืองแบบเก่ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นปัญหาของระบบประชาธิปไตยแบบเก่า ที่มีบทบาทอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการเมืองแบบใหม่ จะต้องเป็นการเมืองภาคชุมชน ให้บทบาทกับชุมชนในการลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา ชุมชนของตนเอง โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก และใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น นี่ถึงเรียกว่าการเมืองภาคพลเมือง หรือการเมืองภาคชุมชนที่แท้จริง


นายจินดา บุญจันทร์ แกนนำชาวบ้านคนสำคัญของภาคใต้ และเป็นเลขานุการที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติ เห็นว่าระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโจทย์ชุมชนท้องถิ่นฐานล่าง ค่านิยมของสังคมก็ไม่ได้คิดที่จะส่งลูกไปเรียนเพื่อที่จะกลับมารับใช้ชุมชน ในขณะเดียวกันเราเลือกผู้แทนเพื่อไปทำหน้าที่บริหาร ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกว่ามันได้อะไรกลับมาสู่ท้องถิ่น ถึงขนาดที่บางคนคิดว่ากำขี้ดีกว่ากำตด ยอมรับเงินซื้อเสียงก่อนลงคะแนน ยังดีว่าเลือกแบบบริสุทธิ์ยุติธรรมแต่ไม่ได้อะไรกลับมา
จากสภาพดังกล่าว ทำให้หลากหลายชุมชนคิดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาของชุมชนด้วยชุมชนเอง โดยใช้เวทีของชาวบ้านในชุมชนเป็นเวทีในการถกปัญหา และระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออก รวมทั้งแนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา เวทีชุมชนเหล่านี้ไม่ค่อยถูกยอมรับในทางสถานะ นี่จึงเป็นที่มาของการที่เครือข่ายชุมชนได้เสนอกฎหมายสภาชุมชน หรือสภาองค์กรชุมชน เพื่อที่จะทำการเมืองจากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน หรือที่เรียกกันว่า “การเมืองกินได้”
สิ่งที่สำคัญที่อยากฝากไว้คือ “สภาองค์กรชุมชนเป็นความหวังหนึ่งที่ชุมชนสามารถสัมผัสได้ เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด” หลักคิดก็คือ “เราจะคิดเองทำเอง” และเป็นการบูรณาการแบบมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง ผู้จัดการสำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มีความเชื่อว่า สถาบันฯหากมีเจ้าหน้าที่มากก็จะปิดโอกาสของพี่น้อง จึงใช้อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้น้อย เพราะเราเชื่อว่าประชาชนจะเข้มแข็งได้ เพราะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมตัวจดแจ้ง จดตั้งแล้ว ประมาณ 18-19 สภาองค์กรชุมชน และยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีกมาก
บทบาทของ พอช.ในฐานะกองเลขา สภาองค์กรชุมชน ตาม พรบ. จะร่วมือกับพี่น้องชุมชนและภาคีความร่วมมือในการจะยกระดับและพัฒนาสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งแล้วให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการส่งเสริมให้มีการขยายการจดแจ้งจัดตั้งเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็คิดว่าภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ก็จะต้องหารือกันต่อในการที่จะร่วมกันส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนต่อไป
นอกจากนี้ทาง พอช.ภาคใต้ ยังมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาควิชาการโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในภาคใต้ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี สงขลา ตรัง ภูเก็ต และมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ภาควิชาการเหล่านี้ เข้ามาบทบาทในการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก


อาจารย์สมปอง รักษาธรรม ประธานหลักสูตรการพัฒนาชุมชน และผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ที่จะให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฎเข้าไปมีส่วนร่วมกับการดำเนินงานส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน โดยการส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน ที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัย ก็พยายามที่ดำเนินการอยู่แล้วโดยส่งเสริมให้ผู้บริหาร และผู้ปกครองท้องถิ่นเข้ามาศึกษา เพื่อยกระดับวิทยฐานะและนำความรู้เพื่อนำไปปรับใช้กับชุมชน การบันทึกความร่วมมือในวันนี้ก็จะเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในการส่งเสริมชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาชวนคิดชวยคุยเรื่องการดำเนินงานสภาองค์กรชุมชน กับการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งดำเนินรายการโดย นายสุวัฒน์ คงแป้น จาก พอช. ภาคใต้ ทั้งนี้ นายถัน จุลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลควนรู อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ได้นำเสนอ กระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมของชุมชนควนรูว่า ตำบลควนรูนั้นขับเคลื่อนงานด้วยการใช้องค์กรชาวบ้าน เป็นหลัก มีกลุ่มองค์กรชุมชนมากมาย ช่วงหลังมีการรวมตัวเป็นเครือข่าย ภายใต้ศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชนตำบลควนรู (ศอ.ชต.) ส่วนด้านการบริหารท้องถิ่นนั้นมีการแข่งขันสูง มีการขัดแย้งกันทุกสมัยของการเลือกตั้ง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ใหญ่มากของตำบล ซึ่งในภายหลังได้ใช้เวทีเครือข่ายองค์กรชุมชน ซึ่งมีที่มาที่เป็นตัวแทนโดยธรรมชาติของชุมชนที่หลากหลายในพื้นที่หารือเพื่อคลี่คลายปัญหา รวมทั้งผู้อาวุโสในตำบล ก็เข้ามาบทบาทสำคัญ จนในไปสู่การสร้างการเมืองสมานฉันท์ ไม่มีการแข่งขันโดยการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นการเสนอนโยบาย และหารือในที่ประชุมเครือข่ายชุมชน แล้วแบ่งบทหน้าที่กันไปทำ เพื่อพัฒนาท้องถิ่น

คลิ้กอ่านรายละเอียดการเมืองใหม่ที่ควนรู http://taiklang.blogspot.com/2009/06/blog-post_14.html


นายศุภวัฒน์ กล่อมวิเศษ รองประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลน้ำพุ มีกลุ่มองค์กรชาวบ้านมากมายคล้ายๆควนรู เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมาขาดการหารือกัน อยู่แบบกลุ่มใครกลุ่มมัน เป็นปัจเจก โดยส่วนตัวนั้นตนคิดว่าควรที่จะมีการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายชาวบ้านอยู่แล้ว พอพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนประกาศใช้ ตนเลยถือโอกาส สร้างการเรียนรู้ให้กับแกนนำองค์กรชุมชนต่างๆ ในตำบล และได้จดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุในที่สุด พอจัดตั้งแล้วเสร็จ ก็จัดการประชุมสภาองค์กรชุมชน โดยเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่เข้าร่วม ทั้ง อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครู เจ้าอาวาส หัวหน้าสถานีอนามัย รวมทั้ง ผู้อาวุโสในพื้นที่ ระดมความคิดเห็นกัน โดยเฉพาะการระดมปัญหาของชุมชนกับแนวทางแก้ไข ซึ่งเรื่องที่สำคัญคือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูคลองฉวางเป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากแหล่งน้ำสำคัญของตำบล รวมทั้งระดับอำเภอด้วย จนนำไปสู่การจัดเวทีสาธารณะ ที่เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงผู้ว่าราชการจังหวัด โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนับเป็นบาทที่สำคัญของสภาองค์กรชุมชนตำบลน้ำพุ และอยากฝากว่า เวทีประชุมสภาองค์กรชุมชน ควรเป็นวงที่คุยกันแบบพี่น้อง แบบสมานฉันท์ แล้วเรื่องดีๆก็จะเกิดในวงประชุมสภาองค์กรชุมชน


คณพัฒน์ ทองคำ รองนายก อบต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช แสดงความคิดเห็นว่า ในฐานะของผู้บริหารท้องถิ่น ตนมองว่าปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของชุมชนคือการแก่งแย่งแข่งขันกันในทางการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในชุมชน ซึ่งส่งเหล่านี้ ตนเห็นว่าตำบลควนรูสามารถแก้ไขได้ถูกจุด คือใช้องค์กรชุมชนต่างๆมานั่งหารือ ตกลงกันเพราะตัวแทนองค์กรชุมชนในตำบล ค่อนข้างจะหลากหลายครอบคลุมพื้นที่ทั้งตำบล ซึ่งนับเป็นตัวแทนของพี่น้องได้รวมทั้งการปรึกษาหารือกับผู้อาวุโสในท้องถิ่นเป็นเวทีเพื่อคัดเลือกตัวแทนชาวบ้านที่จะไปเป็นผู้บริหารท้องถิ่น
ในฐานะของคนขับเคลื่อนงานชุมชนอยู่ด้วย ตนมองว่าสภาองค์กรชุมชนมีประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นอย่างมาก หากแต่พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดค่อนข้างใหญ่ มีถึง 165 ตำบล ดังนั้นเราจึงน่าจะขายความคิด ให้มีการขยายผลการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนให้ได้อย่างน้อยสักครึ่งของตำบลที่มีอยู่ในจังหวัด แล้วเราจะเรียกที่ประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับจังหวัดว่า ที่ประชุมภาคประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อย่างเต็มภาคภูมิ


ด้านนายประยงค์ หนูบุญคง อดีต นายก อบต.ขอนหาด และประธานศูนย์ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ถ้าดูพัฒนาการของภาคประชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว นับว่ามีพัฒนาการมาตลอด ในขณะเดียวกันก็มีปัญหา อุปสรรคอยู่บ้างเช่นกัน ขบวนชาวบ้านจังหวัดนครศรีฯ เริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อคราวที่ คุณลุงประยงค์ รณรงค์ แกนนำชุมชนตำบลไม้เรียง ขยายแนวคิดงานชุมชนไปสู่ตำบลอื่นๆ ในจังหวัด นำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่าย ภายใต้ชื่อเครือ “ยมนา” จากนั้นก็เริ่มขับเคลื่อนงานการจัดทำแผนชุมชน จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดนครศรีฯ เติบโต เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์ประสานงานภาคประชาชนภายใต้ชื่อ “ศูนย์ประสานเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช” ส่วนตัว ตนมองว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น่าจะยังมีบทบาทนำในการพัฒนาท้องถิ่น แต่อาจจะต้องปฏิรูประบบการบริหารจัดการของท้องถิ่นนั้นๆด้วยแบบตำบลควนรู ขณะเดียวกัน สภาองค์กรชุมชน ก็จะเป็นเวทีที่ช่วยเสริมให้ชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นเวทีของภาคองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในชุมชนที่ไม่ได้หวังผลตำแหน่งทางการเมือง แต่มีความปรารถนาที่เห็นอยากจะเห็นชุมชนเข้มแข็งได้เข้ามาช่วยคิด ช่วยทำ เพื่อพัฒนาชุมชน
ประเด็นสำคัญตนอยากฝากว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งแล้ว ควรที่จะต้องเน้นย้ำ ทำความเข้าใจกรอบคิด และบทบาทของสภาองค์กรชุมชน รวมทั้งต้องไม่แข็งตัวมากเกินไป เพื่อที่จะได้ช่วยให้การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเกิดขึ้นได้จริง รวมทั้งมีบทบาทในการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้อย่างแท้จริง


ทั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้ว 18 แห่ง และคาดว่าภายในปี 2552 นี้จะมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรตำบลชุมชนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 แห่ง (ตำบล)


..............................................................................................

โดย : สามารถ สุขบรรจง

..............................................................................................