จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

น้ำมันเหลือใช้กับไขมันหมู ?? ที่ สภ.รัตภูมิ

ในภาวะที่พลังงานฟอสซิล เริ่มหมดลงไปเรื่อยๆ จนหลายฝ่ายคิดจะหัน ไปพึ่งพิงพลังงานนิวเคลียร์ กลับปรากฏโรงเรือนเล็กๆหลังสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ จังหวัดสงขลา มีป้ายเขียนตรงประตูทางเข้าว่า สถานีผลิตไบโอดีเซล ภายในเต็มไปด้วยอุปกรณ์การผลิตไบโอดีเซล ที่ริเริ่มมาจากโครงการอนุรักษ์พลังงานการใช้พลังงานทดแทน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ดาบตำรวจมนัส จันทร์ณรงค์ ผู้ปฏิบัติงานของสถานีผลิตไบโอดีเซล สถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ เล่าให้ฟังว่า การจัดทำโครงการนี้ เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับข้าราชการตำรวจและประชาชนดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากการนำน้ำมันพืชใช้แล้ว แทนที่จะเททิ้งให้เกิดมลพิษ ก็นำมาใช้ผลิตพลังงานเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงไบโอดีเซล

“โครงการนี้ เริ่มเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 มี 80 สถานีตำรวจทั่วประเทศเข้าร่วม ในส่วนของ สภ.รัตภูมิ ทำกันแค่ 14 คน เป็นเพียงโรงพักเดียวโรงพักแรกที่ได้รับการคัดเลือกจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ให้เป็นสถานีนำร่องผลิตไบโอดีเซล จาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง โดยผลิตในอัตรา150 ลิตรต่อวัน นำไปใช้กับรถยนต์สายตรวจในโรงพักรัตภูมิ” ดาบมนัสอธิบาย

ถึงแม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งวิทยากรมาให้ความรู้ถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล พร้อมทั้งชุดอุปกรณ์การผลิต

ทว่า ในเบื้องแรกกลับประสบความล้มเหลว เพราะค่าสารปนเปื้อนมีมากกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว พ.ต.ท.โชติ ชัยชมภู ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรรัตภูมิ จึงเชิญ รศ.ดร.ชาคริต ทองอุไร จากสถานวิชาการไบโอดีเซล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นที่ปรึกษาโครงการ

“ตอนที่คณะของรศ.ดร.ชาคริตมาดูเขาบอกว่า อุปกรณ์ชุดนี้มีคุณภาพ สามารถผลิตได้เดือนละ 3,000 ลิตร แต่สูตรการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลไม่ค่อยดี หลังจากทีมของรศ.ดร.ชาคริตมาดูแล และช่วยกันคิดสูตรที่มีส่วนผสมของสารเคมีและวัตถุดิบแตกต่างกันออกไป ทดลองทำและวิเคราะห์ร่วมกันประมาณ 24 ครั้ง จึงได้สูตรผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ที่มีคุณภาพดีค่าของสารปนเปื้อนต่ำกว่าค่ามาตรฐาน”

เนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อชุมชน หลังจากทดลองจนมีคุณภาพ สามารถนำไปเติมรถยนต์และใช้งานได้จริง ก็เริ่มมีชาวบ้านให้ความสนใจและเข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานตำรวจที่อยู่ในโรงพักให้ความสนใจ จนเด็กแต่ละคนสามารถวิเคราะห์ค่าต่างๆ ของวัตถุดิบและการผลิตได้ตอนแรกเด็กมาดูเฉยๆ ดาบตำรวจมนัสเรียกการมาของเด็กๆ ว่า โครงการมาม่า
เพราะหลังเลิกเรียน เด็กจะมากินมาม่ากันที่นี่

“ช่วงที่เราผลิตน้ำมันเองได้แล้ว ทีมงานของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ถามว่า ต้องการอะไรเพิ่มเติมอีกหรือเปล่า ผมเสนอว่า อยากได้ระบบบำบัดน้ำเสียจากโรงไบโอดีเซล ตอนนี้ได้มาแล้ว ส่วนอีกเรื่อง คือ การทำการตลาด เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่า น้ำมันไบโอดีเซลใช้ได้จริง”

ขณะนี้ ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล ได้มอบน้ำมันไบโอดีเซลให้กับโรงงานอุตสาหกรรม 44 แห่ง นำไปทดลองใช้กับรถโฟล์คลิฟท์มากว่าสองเดือนแล้ว แต่ละที่ได้ไป 800 ลิตร พนักงานที่ใช้รถสะท้อนกลับมายังผู้ผลิตว่า ใช้ดีมาก ยกของได้ดีกว่าเดิม ที่สำคัญไม่มีควัน ทางผู้ใช้บอกว่าประหยัดน้ำมันได้มากกว่าเดิม

ในส่วนของชาวบ้านและเกษตรกร สามารถขอใช้น้ำมันได้ฟรี ขณะนี้มีเพียงรถไถนา 4 คันเท่านั้น ที่ทดลองใช้อยู่ อีกหนึ่งที่พระวัดบนเขานำไปใช้กับเครื่องจักรยกของขึ้นวัดบนภูเขาอกทะลุ จังหวัดพัทลุง การทดลองใช้ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล แจกฟรี

สำหรับน้ำมันใช้แล้ว ดาบตำรวจมนัสบอกว่า ได้รับบริจาคจากร้านค้า นอกจากนี้ทางสถานีผลิตไบโอดีเซล ยังได้ทดลองผลิตน้ำมันจากไขมันหมู ซึ่งประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

การทดลองผลิตน้ำมันไบโอดีเซลของ สภ.รัตภูมิ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง

ภายใต้ สภาวะโลกร้อน และโลกกำลังเข้าสู่ยุคขาดแคลนพลังงาน น้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันใช้แล้วและไขมันหมู นับเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจยิ่ง