จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พอช.จับมือภาคีแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่อำเภอนาทวี เทพา สะบ้าย้อย จะนะ และเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา จัดเวทีสัมมนาสร้างความเข้าใจโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินโดยชุมชนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2552 ณ วิทยาลัยการอาชีพนาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา โดยมีผู้แทนชุมชน จากเกือบทุกหมู่บ้าน ใน 19 ตำบล เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้รวม 420 คน

ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามยุทธศาสตร์ ”ไทยเข้มแข็ง” โดยให้มีการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยชุมชนเป็นหลักในการดำเนินงาน โดยมีงบประมาณในการดำเนินงานในปี 2553 จำนวน 1,228 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้มอบภารกิจนี้ให้ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นเจ้าภาพหลัก โดยร่วมมือกับภาคีหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดสงขลามีพื้นที่เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยการสร้างและซ่อมแซมบ้านอยู่อาศัย จำนวน 11 ตำบล และการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จำนวน 9 ตำบล ในปี 2553 โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดใน 3 ปี

นายไสว หนูยก เจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ อาวุโส พอช.สำนักงานปฏิบัติการภาคใต้ ให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ สรุปได้ว่า โครงการนี้เน้นไปที่การแก้ไขปัญหาผู้ยากลำบากในชุมชน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสนับสนุนการซ่อม และสร้างบ้านใหม่ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินของพี่น้อง โดยการดำเนินงานให้พี่น้องในชุมชน ช่วยกันสำรวจ และจัดทำแผนงานที่จะช่วยเหลือพี่น้องเหล่านั้น ซึ่งการบริหารและดำเนินงานชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ทั้งการจัดซื้อ จัดจ้าง และดำเนินการ รวมทั้งการติดตามประเมินผล ซึ่งแนวทางการดำเนินงานหลักที่วางไว้คือให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นแกนหลัก ซึ่งหลายตำบลมีสภาองค์กรชุมชนอยู่แล้ว ที่ยังไม่มีก็ควรจะทำให้เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อใช้เป็นฐานในการขับเคลื่อนงาน ด้านงบประมาณนั้น รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนผ่าน พอช.แต่ควรจะมีการใช้อย่างยั่งยืนและทั่วถึง ดังนั้นจึงคิดว่าน่าจะเป็นลักษณะของกองทุนหมุนเวียนในพื้นที่ แต่ทั้งนี้ให้กำหนดและตกลงกันของชุมชนเอง และย้ำว่าการดำเนินงานต้องต้องประสานงานกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ที่สำคัญผู้แทนชุมชนที่มาร่วมในวันนี้ควรจะทำความเข้าใจรายละเอียดของโครงการเพื่อนำไปสื่อสารกับพี่น้องในชุมชนได้อย่างถูกต้อง โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ความสนใจซักถามแลกเปลี่ยนข้อสงสัยกันอย่างทั่วถึง
นางจรรยา แก้วจันทร์ เลขานุการเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดสงขลา ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงานของขบวนชุมชน รวมทั้งทิศทางการดำเนินงานของขบวนองค์กรชุมชน และกล่าวตบท้ายว่า “ตนศึกษารายละเอียดโครงการนี้แล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากที่มีโครงการนี้ในพื้นที่ เนื่องจากจะเกิดประโยชน์กับคนยากลำบากในพื้นที่ชุมชนจริงๆ และชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ทั้งการกำหนดเกณฑ์ วางกรอบ สำรวจ และคัดเลือกผู้รับประโยชน์จากโครงการ จึงอยากฝากให้ตัวแทนชุมชนที่เข้าร่วมวันนี้ตั้งใจและช่วยกันมีส่วนร่วมทำให้โครงการนี้บรรลุผล”

นายสุรศักดิ์ หนูสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาทวี ในฐานะหน่วยงานภาคีที่ร่วมดำเนินงานกล่าวว่า ”ตนตั้งใจที่จะแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในพื้นที่มาตั้งแต่ ปี 2538 จนถึงตอนนี้ก็ยังแก้ปัญหาไม่หมด ถึงตอนนี้เมื่อสถาบัน พอช. เข้ามาผลักดันเรื่องนี้ ก็พร้อมหนุนการทำงานของกระบวนชุมชน ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินอย่างเต็มที่ เชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายและมีความพร้อมที่จะแก้ปัญหาของพี่น้อง แต่พี่น้องประชาชนต้องเสนอวิธีการในการแก้ปัญหาของตนเอง เช่น เทศบาลตำบลนาทวี ได้หาทางออกในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยการให้ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเช่าที่อยู่จากเทศบาล ที่ต้องหยิบยกมาพูดคุย เพราะหน่วยงานของรัฐมีข้อกฎหมายมากมาย ในขณะที่ประชาชนก็ต้องการแก้ปัญหา เพื่อมีคุณภาพที่ชีวิตที่ดี การแก้ปัญหาทุกเรื่องจะให้เกิดผล 100 % ยังไม่สามารถทำได้ แต่ก็สามารถคลี่คลายและบรรเทาได้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้อยู่ได้อย่างมีความสุขมากขึ้น โครงการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง หากพี่น้องช่วยกันระดมความคิด ให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ และที่สำคัญ เราต้องร่วมมือกัน

โดยโครงการดังกล่าว คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้ในต้นเดือนสิงหาคมนี้

ช่วงท้ายของการสัมมนามีการเสนอชื่อผู้ประสานงานในระดับตำบล ทั้ง 19 ตำบล และการนัดหมายแผนงาน เช่น การจัดเวทีสร้างความเข้าใจระดับพื้นที่ตำบล การจัดตั้งคณะทำงานพื้นที่ การสำรวจข้อมูล การประมวลข้อมูลสภาพปัญหา และจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาของพื้นที่ต่อไป

โดย : บ่าวนุ้ย