จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เกษตรกร-เอ็นจีโอ ชูประเด็นเน้นสิทธิเกษตรกรรายย่อย...ผวาทุนต่างชาติดึงคนไทย

เกษตรกร-เอ็นจีโอ ชูประเด็นเน้นสิทธิเกษตรกรรายย่อย เพิ่มอิสระใส่ร่างพ.ร.บ.สภาฯ ผวาทุนต่างชาติดึงคนไทย

กลายเป็นประเด็นร้อนไปแล้วสำหรับการไล่ล่าเช่าซื้อที่ดินของนายทุนต่างชาติ โดยเมื่อไม่กี่วันก่อน ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น วิภาวดี กรุงเทพฯ ภาคีคณะทำงานติดตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ 11องค์กร อาทิ สมัชชาคนจน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สภาเครือข่ายองค์กรประชาชน ร่วมสัมมนานโยบายสาธารณะในเรื่อง “การปฏิรูประบบเกษตรกรรมและพัฒนาสิทธิเกษตรกร” โดยนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรฯ กล่าวถึงปัญหาสถานการณ์ของเกษตรกรในขณะนี้ว่า เกษตรกรยังประสบปัญหาในรูปแบบเดิมคือโครงสร้างพื้นฐานในภาคเกษตรที่ไม่เป็นธรรม การเข้าถึงปัจจัยผลิตถูกแทรกแซงโดยนายทุน รวมไปถึงปัญหาที่ดิน ที่ปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเสียค่าเช่าที่ทำการเกษตรในอัตราที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีหนี้สินพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

นางกิมอัง กล่าวว่า การแฝงตัวเข้าซื้อที่นาของกลุ่มทุนต่างชาติมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆโดยกรณีดังกล่าวนี้แม้จะไม่มีหลักฐานใดพิสูจน์เพื่อนำไปสู่การจับกุม แต่มีข้อมูลจากเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรที่ระบุว่าขณะนี้ถูกยึดที่นาเช่าคืน ทำให้ไม่มีที่ทำกิน ทั้งนี้กลวิธีของกลุ่มทุนข้ามชาติมีความซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่อาศัยเพียงตัวกลางประสานขอซื้อที่นา แต่ปัจจุบันมีการตั้งผู้จัดการซึ่งเป็นคนไทยควบคุมบริหารทั้งหมด มีการแบ่งหน้าที่เป็นลำดับซับซ้อนขึ้นโดยที่เชื่อว่าทั้งหมดมีกลุ่มทุนต่างชาติอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตามเห็นว่าแนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรที่เรื้อรังมานานวิธีหนึ่งคือการมีตัวแทนเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่มสมัชชาเข้าไปทำหน้าที่ร่วมกำหนดนโยบายร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นที่มาของการผลักดันร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร ฉบับภาคประชาชน

นางกิมอัง กล่าวต่อว่า ภาคีฯเห็นร่วมกันว่าร่างกฎหมายในประเด็นดังกล่าวที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาในกระบวนของรัฐสภาซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยกระทรวงเกษตรฯเป็นผู้เสนอนั้น มีเนื้อหาที่ยังไม่สอดคล้องกับการสนับสนุนด้านสิทธิของเกษตรกร ทั้งการกำหนดนโยบายยังขึ้นตรงกับกระทรวงฯซึ่งส่อให้เห็นว่ามีแนวทางที่ไม่ต่างจากเดิมที่เคยมีมาแล้วก่อนหน้านี้ในภาคราชการ อาจเป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา84(8) ที่ระบุให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของเกษตรกรได้

นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะคณะยกร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกร ฉบับภาคประชาชน กล่าวว่า ร่างข้อกฎหมายฉบับดังกล่าวที่ดำเนินการขึ้นเพื่อนำไปประกบกับร่างของครม.นั้นได้เน้นประเด็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในรูปแบบของสภาเกษตรกร การมีสมัชชาเกษตรกร จากร่างเดิมที่พบว่ายังมีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา84(4) อาทิ แนวทางในการคัดเลือกสรรหาสมาชิกสภาฯ ที่มีแนวโน้มว่าเอื้อประโยชน์กับตัวแทนกลุ่มธุรกิจและเกษตรกรรายใหญ่มากกว่ารายย่อย โครงสร้างการบริหารยังมีลักษณะที่ไม่เป็นอิสระจากระบบราชการ รวมถึงบทบาทที่ระบุไว้ยังไม่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของขบวนการเกษตรกร

ด้านนายทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะยกร่าง กล่าวว่า สิทธิเกษตรกรที่ระบุไว้ในร่างดังกล่าวต้องประกอบไปด้วยหลักสำคัญ4ประการ ได้แก่ 1.การถือครองปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างมั่นคง 2.การเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะอย่างเพียงพอ อาทิ การปฏิรูปที่ดินชุมชน 3.การรับประกันความมั่นคงในผลตอบแทนที่ควรได้รับ โดยไม่ใช่การประกันราคา 4.การรักษาวิธีการผลิตที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่เน้นหลักในการดำรงชีวิต ให้เกษตรกรมีอาหารบริโภค สามารถกำหนดคุณภาพชีวิตเรื่องอาหารได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงของการแลกเปลี่ยนความเห็นได้มีการพูดคุยกันหลายหลายจากกลุ่มตัวแทนเกษตรกร โดยประเด็นส่วนใหญ่ยังเน้นที่สิทธิที่เกษตรกรจะได้รับ ทั้งการจัดระบบประกันความเสี่ยงของผลผลิตการเกษตร การควบคุมราคาของปัจจัยการผลิต การจัดระบบที่ดินและยุทธศาสตร์ทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติต่ออาชีพเกษตรกรของสังคมส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามกลุ่มเกษตรกรยังมองว่าอาจไม่จำเป็นต้องส่งร่างภาคประชาชนไปประกบ แต่จะยึดตามร่างของกระทรวงฯก็ได้ เนื่องจากเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว หากแต่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องตามที่เครือข่ายต้องการ โดยจะส่งตัวแทนไปร่วมในชั้นคณะกรรมาธิการ

จาก : โต๊ะข่าวเพื่อชุมชน สถาบันอิศรา