จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สำรวจชายฝั่งนคร ค้นบทเรียนการรุกล้ำชายฝั่ง ก่อนจะสายเกินไป

ท่ามกลางเปลวแดดอันร้อนแรง เรามุ่งหน้าจากตัวเมืองนครไปสู่อำเภอปากพนัง เป้าหมายของเราในวันนี้คือ ต้องการดูผลกระทบจากการกัดเซาะของชายหาดแถว ๆ อ.ปากพนังและหัวไทร

ก่อนหน้านี้เราได้รับรู้เรื่องราวของการกัดเซาะเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ใสใจอะไรมากนัก คิดว่าคงเป็นเพียงบางจุดเท่านั้น รวมทั้งได้ยินมาว่าพี่น้องชาวบ้านที่ อ. จะนะ และ อ. นาทับ จ. สงขลา ว่าได้ฟ้องกรมเจ้าท่าและพาณิชย์นาวีเนื่องจากได้สร้างท่าเรือและเขื่อนดักทราย จนทำให้ชายฝั่งหายไปหลายร้อยเมตรแล้ว จนชาวบ้านหวั่นเกรงว่าหากยังเดินหน้าต่อไปอาจไม่เหลือชายหาดแน่ ๆ และเราทราบว่าจะมีการก่อสร้างท่าเรือของบริษัทขุดเจาะน้ำมันแห่งหนึ่งบริเวณชายหาดท่าศาลา เราก็เกรงว่าจะเป็นเหมือนชายฝั่งที่สงขลาหรือไม่


เราตั้งใจจะขับรถย้อนจากปลายแหลมตะลุมพุกขึ้นไปถึงหัวไทร จุดแรกของเราเริ่มที่ แหลมตะลุมพุก ขับรถไปถึงบ้านปลายทราย ผ่านวัดและโรงเรียน เลี้ยวขวาหน้า อบต. ตรงไปบริเวณชายหาด ชายหาดยังคงเงียบเหงาเพราะยังเช้าอยู่ แม่ค้าร้านอาหารทะเลเพิ่งเริ่มเปิดปัดกวาดร้าน ทะเลดูสงบระลอกคลื่นทยอยซัดชายหาดอย่างแผ่วเบา เด็กน้อยสองคนเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน บริเวณนี้ยังมีชายหาดกว้างพอสมควร หาดสะอาดน่าเล่น เหลียวมองดูป้ายจัดอันดับแหล่งท่องเที่ยวหาดนี้ได้รับการจัดอันดับไว้ ๓ ดาว

เราตรงต่อไปยังปลายแหลมที่มีถนนคอนกรีตประมาณ ๓๐๐ เมตร ที่เหลือเป็นหินคลุกไปจนสุดสภาพถนนดีมาก ระหว่างทางเราเห็นซากต้นสนล้มเป็นแนวยาว รากไม้โผล่ขึ้นมาระเกะระกะ เห็นได้ชัดว่าบริเวณนี้มีการกัดเซาะจนต้นสนใหญ่อายุหลายสิบปีล้มไปหลายต้น และยังเซาะเข้ามาถึงถนนบางช่วง เลยไปผ่านป่าสนใหญ่ร่มครึ้ม ใบสนที่หล่นลงมาค้างตามกิ่งและใบสน เหมือนปุยนุ่นแต่งแต้มก้านกิ่งดูอ่อนนุ่ม เป็นบรรยากาศป่าสนที่สวยงามแปลกตา

ถึงปลายแหลมเห็นแนวสันดอนทรายที่งอกงุ้มเข้ามาทางด้านอ่าวปากพนัง อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนตัวของทรายนั้น จะเคลื่อนจากทางทิศใต้และไปทิศเหนือจนเกิดการทับถมกันที่บริเวณปลายแหลม

ย้อนกลับออกมาแวะคุยกับชาวประมงที่บ้านแหลมตะลุมพุก ชาวบ้านบอกว่า ทะเลรุกเข้ามาทุกปี โดยเฉพาะปีหลัง ๆ ๔ - ๕ ปีนี้รุกเข้ามาเร็วมาก พร้อมชี้ให้ดูบ้านที่พังเหลือแต่ซาก และกำแพงวัดที่ก่อเป็นผนังปูนพังไปสองช่วง ทางวัดจึงเอาหินก้อนใหญ่มาวางกั้นตลอดแนว ชาวบ้านบ่นว่าคงต้องอพยพไปอยู่อีกฝั่งของถนน เพราะบ้านที่อยู่ปัจจุบันถูกทะเลรุกเข้ามาทุกที แม้จะรู้ดีว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวน แต่ก็จำเป็นต้องอยู่เพราะไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เราสังเกตเห็นทรายมาทับถมถนนคอนกรีตในหมู่บ้านจนเกือบมิด และไปกองอยู่ใต้ถุนบ้านฝั่งตรงข้ามกับชายหาด ก่อนจากชาวบ้านบอกว่าเดี๋ยวนี้ในหมู่บ้านมีแต่ตัว "จ" กับตัว "ด" เราทำหน้างง ก่อนที่จะเฉลยว่า จ ก็คือ "จน" ด ก็คือ ดอกเบี้ย ไง

จุดต่อมาแวะที่สะพานปลาบ้านหัวถนน ถามชาวบ้านที่มาตกปลาตอนเที่ยง ๆ บอกว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีเรือมาจอดแล้ว เพราะน้ำตื้น ด้านทิศเหนือต่อจากสะพานไปเห็นแนวชายหาดเว้าเข้าไปอย่างชัดเจน เพราะทรายมาติดอยู่บริเวณใต้สะพาน ซึ่งแม้ว่าสะพานจะทำเสาโปร่งแต่ก็มีทรายทับถมจนเต็ม ดักทรายไว้ไม่ให้เคลื่อนตัวไปได้ เราคุยกันว่าหากสะพานไม่ใช้ประโยชน์แล้วควรจะมีการรื้อถอนเพื่อปรับสภาพชายหาดน่าจะดีกว่าปล่อยไว้แบบนี้

เรามุ่งหน้าไปตามถนนปากพนัง - หัวไทร ระหว่างทางเห็นการกัดเซาะหลายจุด ที่น่าตกใจเมื่อเห็นบางจุดนั้นเดิมเป็นบ่อกุ้งริมชายหาด พอคลื่นซัดจนคันนาพังลงไปน้ำก็ทะลักเข้ามาถึงขอบบ่ออีกด้านในทันที ทำให้เกิดการรุกของน้ำทะเลที่เร็วมาก

บริเวณทางระบายน้ำฉุกเฉินบริเวณบ้านท่าพญา มีการทำแนวคอนกรีตกั้น บริเวณปลายคลองแล้วโค้งเป็นมุมออกไปทั้งสองฝั่ง แต่พนังคอนกรีตโดยกัดเซาะจนแนวพังไปเกือบหมดแล้ว แม้ดินที่ถมไว้หลังแนวพนังก็โดนน้ำซะออกไปเกือบหมด


กำแพงคอนกรีตและทางเดินตัวหนอน

จากจุดนี้ไปจนถึงบ้านนำทรัพย์มีการสร้างกองหินเป็นรูปตัวทีเพื่อกันการกัดเซาะ มาถึงบริเวณ ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ซึ่งเดิมคลื่นได้ซัดจนเข้ามาถึงถนน ตอนนี้ได้มีการสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ ลึกประมาณ ๖ เมตร สูงขึ้นมาประมาณ ๒ เมตร ยาวประมาณ ๒ - ๓ กิโลเมตร และถมหินหน้ากำแพงอีกทีหนึ่ง บริเวณด้านในของกำแพงมีการปูตัวหนอนอย่างสวยงาม แต่มีบางช่วงเริ่มทรุดลงไปแล้ว พวกเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไม่ต้องปูตัวหนอนให้เปลืองงบประมาณด้วย เพราะทรายด้านใต้ที่รองรับตัวหนอนย่อมต้องมีโอกาสในการทรุดตัวสูง เพราะความลื่นไหลของทราย และอีกอย่างยังไม่แน่ว่ากำแพงจะกั้นคลื่นได้หรือเปล่า อีกทั้งชายหาดก็ไม่ใช้สถานที่ท่องเที่ยว จะทำให้เปลืองงบประมาณทำไม (ทีชายหาดเดิมสวย ๆ ไม่รู้จักรักษาไว้) ไม่เข้าใจเลยจริง ๆ

บริเวณชายฝั่งที่ต่อเนื่องกันนอกจากจะมีการทำกำแพงคอนกรีตแล้ว ยังมีการทำกองหินรูปตัวทีด้านหน้าแนวกำแพงอีกชั้นหนึ่งด้วย เรียกว่าต้องทำปราการถึงสองชั้นเลยทีเดียว


ชาวประมงกับสิ่งก่อสร้างใหม่ที่ต้องปรับตัว

มาถึงบ้านต้นสน ต. เกาะเพชร อ. หัวไทร ได้แวะคุยกับชาวประมงพื้นบ้าน เราเห็นร่องรอยการทำกองหินกันคลื่นเพิ่งเสร็จ มีรถแบ๊คโฮ ๒ คัน กำลังเกลี่ยทรายบริเวณชายหาด เพื่อให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม เด็ก ๆ กลุ่มใหญ่เล่นน้ำอยู่บนเว้าหาดเล็ก ๆ ระหว่างกองหินสองกอง ชาวบ้านบอกว่า ประมาณ ๔ ปีแล้วที่คลื่นกัดเซาะรุนแรง เพราะมีการทำเขื่อนกั้นทรายมากหลายที่ โดยเฉพาะคลองชะอวดแพรกเมือง มีเขื่อนยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร ทำให้การกัดเซาะที่ชายหาดหัวไทรรุนแรง ชาวบ้านบอกว่าเมื่อก่อนการกัดเซาะเป็นไปตามธรรมชาติ บางปีก็กัดเข้ามา บางปีก็งอกออกไป แต่เดี๋ยวนี้กัดเข้ามาอย่างเดียว

ทางการจึงได้มีโครงการทำกองหินกันคลื่น ตลอดแนวชายหาด ตอนแรกบอกว่าจะทำออกไปจากฝั่งประมาณ ๑๐๐ เมตร ชาวบ้านจึงไม่ว่าอะไร เพราะถือว่าไกลพอแล้ว แต่พอทำจริงเหลือประมาณ ๕๐ เมตร ชาวบ้านเกรงว่าการแล่นเรือเข้าออกจะลำบาก หากคลื่นลมแรงเรืออาจเสียหลักไปชนกองหินได้ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้ว เท่าทีประมาณดูกองหินน่าจะสูงประมาณ ๓ - ๔ เมตร ฐานกว้างประมาณ ๔ เมตร ด้านบนกว้างประมาณ ๒ เมตร ฐานยาวประมาณ ๓๐ เมตร ด้านบนยาว ๒๖ เมตร

ตามความเห็นของชาวบ้าน อยากให้กองหินมีขนาดใหญ่ขึ้นกว่าเดิมประมาณ ๒ เท่า โดยยุบสองกองเหลือกองเดียว และให้มีช่องว่างระหว่างกองมากขึ้นเรือจะได้แล่นเข้าออกไปสะดวก และให้ห่างออกไปจากฝั่งมากกว่านี้ ให้เรือสามารถวิ่งอ้อมได้ เมื่อถามว่าแล้วจะกันคลื่นได้หรือ ชาวบ้านบอกว่าสามารถกั้นคลื่นได้ แต่ทรายจะถูกซัดออกไปหมด

เมื่อเราถามว่าหลังกองหินสามารถเลี้ยงปลาได้หรือไม่ ชาวบ้านบอกว่าเลี้ยงไม่ได้เพราะมีเวลาช่วง ๖ เดือนจะเกิดมรสุม ปลาไม่ทันใหญ่ คลื่นจะซัดแรงจนเรือก็ต้องเอาขึ้นมาจอดบนหาด


ท่าเรือหัวไทร กำแพงกี่ชั้นถึงจะพอ

ผ่านมาถึงท่าเรืออำเภอหัวไทร มีการทำกำแพงคอนกรีตกันคลื่นถึงสองชั้น เพราะชั้นแรกนั้นพังไปแล้ว ด้วยแรงคลื่นกระแทกกำแพงแล้วเซาะทรายข้างล่างทำให้กำแพงทรุดตัวลงและพังในที่สุด ก็ไม่รู้ว่ากำแพงใหม่นี้พังและจะต้องสร้างกำแพงอีกชั้นหรือไม่ สิ่งที่เห็นนี้ได้พิสูจน์ว่า วิธีคิดในการเอาชนะธรรมชาติ ด้วยการเอาของแข็ง ไปกั้นคลื่นนั้นไม่ได้ผล เพราะคลื่นลมมีแรงมหาศาล และไหลซอกซอนกัดเซาะไปได้เรื่อย สิ่งก่อสร้างที่แข็งและปะทะกันแรงคลื่นตรง ๆ จึงไม่อาจจะทนทานได้

จากท่าเรือหัวไทรไปจนถึงคลองระบายน้ำแพรกเมือง บริเวณคลองระบายน้ำมีการทำกำแพงกันทรายยื่นออกไปในทะเลทั้งสองฝั่งยาวประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี้คงจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการกัดเซาะตลอดทางที่เราผ่านมา มองไปทางด้านเหนือของปากน้ำเห็นกองหินเป็นแนวยาวสุดสายตา เพราะต้องทำไล่ไปเรื่อย ๆ หากหยุดบริเวณไหนจุดนั้นก็จะถูกัดเซาะ

จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้นมีแนวชายหาดประมาณ ๒๒๕ กิโลเมตร ปัจจุบันนี้ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะและมีการสร้างกองหิน แนวกำแพงจนหมดสภาพเดิมไปแล้วกว่าครึ่ง จึงเป็นคำถามว่าเราจะรักษาชายหาดที่เหลืออยู่เอาไว้ได้อย่างไร

โดย มานะ ช่วยชู/ทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว/อุษาวดี ศรีมัง : จากเวป มอส.