จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มาฟังทัศนะของ "พิภพ ธงไชย" กับแผนพัฒนาภาคใต้

นาทีนี้ พูดถึงพิภพ ธงไชย คงไม่มีใครไม่รู้จัก

นับแต่เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชื่อของเขาก็กลายเป็น “เซเล็บ” ไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ชื่นชมบ้าง นินทาบ้าง กระทั่งแม้แต่เห็นด้วยหรือ ขัดแย้งต่อสิ่งที่เขาคิดเขาทำบ้าง ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ของบุคคลที่เข้าไปยืนอยู่ในวงสปอร์ตไลท์ของสังคม

แต่เอาล่ะ อันนั้นไม่ใช่ประเด็น

ขนาด “หัวมันขี้หนู” ที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนในภาคใต้ทั่วหน้า ก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะปล่อยให้มันแห้งขอดอยู่กับถ้วยแกงส้ม

เรื่องของเรื่องก็คือ ท่ามกลางการพยายามผลักดันแผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ให้กลายเป็นแหล่งรองรับอุตสาหกรรมนับหมื่นนับแสนไร่
เมื่อหลายวันก่อน ณ ห้องบรรยาย 3305 คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พิภพ ธงไชย ได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวเอาไว้ ท่ามกลางผู้ร่วมฟังแน่นขนัดห้อง

“กลุ่มทุนกับนักการเมืองมันร่วมมือกัน แล้วกำหนดทิศทางการพัฒนาให้เป็นทุนนิยมแบบประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นทุนนิยมที่เริ่มต้นอย่างสามานย์ เป็นทุนนิยมที่ไม่สะอาด เพราะต้องการกำไรอย่างเดียว”

พิภพเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่ไปที่มาของแผนพัฒนาที่กำลังจะดำเนินการในภาคใต้ ก่อนจะยกตัวอย่างการพัฒนาลักษณะเดียวกันที่กำลังก่อปัญหาทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นที่ ร้างผลร้ายให้กับผู้คน กระทั่งต้องหาฐานที่ตั้งใหม่

“นักการเมืองญี่ปุ่นมันก็ไม่ได้วิเศษวิโสอะไรเลย ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว มันก็ร่วมมือกับกลุ่มทุน กลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อที่จะเอาเปรียบประชาชน พอมีบทเรียนที่มินามาตะ ชาวบ้าน นักวิชาการ ต่อสู้หนักเข้า แพ้บ้างชนะบ้าง แต่สุดท้ายก็ขับไล่อุตสาหกรรมที่ไม่สะอาดออกจากญี่ปุ่นหมด แล้วมันก็ย้ายฝุ่นย้ายโรงงานมาตั้งที่เมืองไทย

“อุตสาหกรรมพวกนี้มันไม่คิดอะไรมาก มันเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ถูกที่สุด ที่ถูกที่สุดก็คือ ไม่ต้องดูแล สิ่งแวดล้อม ไม่ต้องดูแลประชาชน หรือผลักภาระไปให้ตกอยู่กับประเทศอื่น อย่างตอนนี้บาปกรรมก็มาตกอยู่ที่เรา ต่อไปถ้าเราขับไล่กันแบบนี้ ก็จะไปตกที่เวียดนาม”

พิภพสาธยายเป็นฉากๆ จนทำให้ใครต่อใครที่อยู่ในห้องประชุมคลายข้อสงสัยว่า ทำไมในการดำเนินศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการต่างๆตามแผนพัฒนาฯ จึงมักจะมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นเป็นโต้โผใหญ่

“ทางญี่ปุ่นนี่เขามีบทเรียนที่รุนแรงกว่าเรา ทั้งง่อยเปลี้ยเสียขา ของพี่น้องเราที่มาบตาพุด อาการยังอยู่ภายในร่างกาย ยังมองภายนอกไม่ค่อยเห็น

“ที่เป็นแบบนี้ก็อย่างที่พูดในตอนแรก คือนักการเมืองกับกลุ่มทุนมันร่วมมือกัน ผมเคยไปอภิปรายที่เวทีจะนะ ทางสภาพัฒน์ฯก็มา ทาง ปตท.ก็มา ตอนนั้นตัวแทนปตท.บอกว่า มีทางเลือกที่จะสร้างโรงแยกแก๊สนอกจากจะนะอยู่ 5-6 ทาง ถ้าจะนะไม่เอา ปัตตานี
ยะลา ก็จะเอา ไม่มีปัญหาอะไร แต่สุดท้ายก็กดดันจะเอาที่จะนะจนได้ ไม่มีทางเปลี่ยน เพราะนักการเมือง ทหาร ข้าราชการ ไปกว้านซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้ว ยิ่งตอนนี้กลุ่มทุนกับนักการเมืองมันเล่นกันหนักเกิน เล่นกันตลอดฝั่งอ่าวไทย”

จากญี่ปุ่น พิภพโยงประเด็นมาถึงจะนะ เพื่อฉายภาพให้เห็นเป็นกรณีตัวอย่างของแผนพัฒนา ที่มีนักการเมืองและกลุ่มทุนพยายามผลักดันอยู่เบื้องหลัง ก่อนจะเสนอทางแก้

“แม้บางพื้นที่พี่น้องของเราจะยันโครงการต่างๆเอาไว้ได้ แต่ยังไงๆสุดท้าย มันก็ต้องไปแก้ที่การเมืองอยู่ดี เราต้องทำให้การเมืองสะอาด

“ถึงแม้พี่น้องจะรักนายหัวชวนมาก รักประชาธิปัตย์มาก แต่ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าคนที่เซ็นสัญญาโรงแยกแก๊สก็นายหัวชวน ผมจำได้ ตอนคุณทักษิณ ก็มาหลอกลวงพวกเราที่ลานหอยเสียบว่าจะมีอะไรใหม่ ซึ่งมันก็พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าการเมืองแบบนี้ไม่ใช่ทางเดินที่เราต้องการ เราต้องทำ ให้เกิดการเมืองใหม่”

แม้จะไม่ได้ลงลึกว่า การเมืองใหม่ที่จะแก้ไขปัญหานักการเมืองร่วมมือกับกลุ่มทุนกำหนดแนวทางการพัฒนามาตลอดมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง แต่พิภพก็ยกวาทะของท่านพุทธทา ขึ้นกล่าวอ้าง เสมือนหนึ่งเป็นวิสัยทัศน์รวบยอดของแนวทางดังกล่าว

“ผมไปอิหร่านมา จึงนึกถึงสัจธรรมที่ท่านพุทธทาสพูดว่า การเมืองกับธรรมะต้องอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน ที่อิหร่านนี่พวกอิหม่ามต่างๆที่ศึกษาธรรมะเป็นนักการเมือง แล้วออกกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักศาสนา

“เราต้องทำกฎหมายกับธรรมะให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้นักการเมือง ปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ประเทศอิหร่าน ผมถามว่า มีคนขัดข้องอะไรไหมเพราะต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของศาสนาที่เคร่งครัด แต่ไปๆมาๆที่อิหร่านคนหนีออกนอกประเทศไม่ถึง 1 % ด้วยซ้ำ”

พิภพยกตัวอย่าง ก่อนจะสรุปในประเด็นนี้ “แม้สถานการณ์โลกจะเปลี่ยน แม้ประเทศไทยอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่เราต้องเปิดประเทศ แต่เราก็ต้องเปิดประเทศอย่างสะอาด ระบบทุนของเราต้องสะอาด ระบบเศรษฐกิจต้องไม่มีระบบเดียวที่สามานย์ ต้องมีระบบเศรษฐกิจที่แตกต่างด้วย เช่น ปฎิบัติตามหลักศาสนา มรรค 8 อริยสัจ 4 หรือสรุปก็คือต้องประกาศพื้นที่พัฒนาตามหลักศาสนา”


จาก: ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้