จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พลังนักต่อสู้ของคน"ลำสินธุ์"จาก"ถังแดง"สู่ "ศูนย์การเรียนรู้"

เหตุการณ์ "ถีบลงเขา เผาลงถัง" หรือ "ถังแดง" ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2513-2516 หลายคนยังคงจำกันได้ดี เกิดขึ้นใน จ.พัทลุง รัฐบาลขณะนั้นส่งทหารมาตั้งค่ายที่บริเวณบ้านเกาะหลุง หมู่ที่ 1 ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เพื่อปราบปรามกองกำลังคอมมิวนิสต์ สาขาภาคใต้ และมีการจับตัวสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์หรือบุคคลที่ต้องสงสัยเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ มาสอบปากคำที่ค่ายแห่งนี้

หากคนไหนให้การไม่เป็นประโยชน์หรือไม่ยอมพูดก็จะถูกซ้อมอย่างทรมาน จนไปถึงการผูกผ้าปิดตานำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ แล้วก็จะบินต่ำก่อนถีบตกลงมา หากยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ ก็จะจับตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์อีกครั้งแล้วถีบให้ตกลงมาอีก และไม่ว่าจะตายหรือไม่ตายก็จะถูกนำไปยัดใส่ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร แล้วจุดไฟเผา

กระทั่งรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นำนโยบาย 66/23 "การเมืองนำการทหาร" เข้ามาใช้ ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งวันที่ 24 ธันวาคม 2534 กลายเป็นวันดับไฟใต้ ที่ จ.พัทลุง

กล่าวสำหรับ ต.ลำสินธุ์ ในปัจจุบัน มีพื้นที่ทั้งหมด 36,239ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 17,154 ไร่ อาชีพหลักของชาวบ้านคือ เกษตรกรรม

จากพื้นที่ "ถังแดง" ปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การจัดการที่เข้มแข็งของกลุ่มเครือข่ายสินธุ์แพรทอง

อุทัย บุญดำ ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง กล่าวว่า หลังเหตุการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง ภาครัฐบาลประกาศใช้นโยบาย "การเมืองนำการทหาร" ชาวบ้านในพื้นที่ที่เข้าป่าไปเป็นสหาย เป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็กลับมายังหมู่บ้านหันมาประกอบอาชีพการเกษตร ปลูกผักขาย ทำไร่ ทำสวนยางพารา เลี้ยงสัตว์ และคนในชุมชนเริ่มรวมตัวกันทำมาหากินมากขึ้น

"ความสามัคคีเมื่อครั้งต่อสู่เพื่อประชาธิปไตย ทำให้คนชุมชนรวมตัวแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เอื้ออาทรต่อกัน แกนนำชาวบ้านในชุมชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมือง ประวัติศาสตร์การต่อสู่ภาคประชาชน กลายเป็นอุดมการณ์ที่หล่อหลอมความคิดการอยู่ในสังคมด้วยการช่วยเหลือตนเอง การพึ่งพาชุมชน และการให้ความสำคัญกับมวลชนและผู้ใช้แรงงาน"

อุทัยกล่าวต่อว่า ต่อมารัฐบาลเข้ามาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มพัฒนาชุมชน กลุ่มสาธารณสุข แต่ด้วยความไม่พร้อมของชุมชนในการบริหารจัดการกลุ่ม ในช่วงปีเดียวกลุ่มต่างๆ ก็ล้มลง คงเหลือเพียงกลุ่มออมทรัพย์ที่พอจะบริหารจัดการอยู่ได้ แต่ยังมีจุดอ่อนคือ การขาดความรู้ทางบัญชี

"จากจุดอ่อนนี้ทำให้แกนนำเริ่มนำปัญหามาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น และศึกษาปัญหาจากกลุ่มอื่นๆ มาพัฒนากลุ่มของตนเอง ทำให้แต่ละกลุ่มเริ่มพัฒนากลุ่มของตนเองอีกครั้ง จนนำมาซึ่งความเข้มแข็งให้กับชุมชน จึงได้จัดตั้งเป็นเครือข่ายสินธุ์แพรทอง เมื่อปี 2544 เพื่อที่จะร่วมพัฒนายกระดับความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้นตามแนวทางการพึ่งพาตนเอง"

นายอุทัยกล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่เครือข่ายได้ให้ความสำคัญคือ การจัดเวทีแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานแต่ละกลุ่ม โดยได้รับงบประมาณเสริมความเข้มแข็งจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน มาจัดเวทีเรียนรู้ของคนภายในชุมชน

จากเวทีการเรียนรู้ในครั้งนั้น ทำให้ชุมชนค้นพบตนเอง มองเห็นจุดอ่อน จุดแข็งของชุมชน จับมาเป็นแผนแม่บทชุมชน เรียกกันว่า แผนแม่บทเครือข่ายที่รวมคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาของชุมชน ซึ่งได้พบปัญหาที่แท้จริงหลายอย่าง โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำการเกษตรที่เน้นการปลูกผลไม้อย่างเดียว แต่ไม่รู้วิธีการขาย ต้องซื้อปุ๋ยซื้อยาและราคาผลผลิตไม่ดี จึงนำมาซึ่งการแก้ปัญหาปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีมาสู่การเกษตรที่ใช้สารชีวภาพมากขึ้น จนประสบความสำเร็จผลผลิตที่จะขายได้ราคาเพราะเป็นผลผลิตปลอดสารพิษ

"ขณะนี้หลายองค์กรเริ่มเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำงานของเครือข่ายสินธุ์แพรทองมากขึ้น ทำให้ปี 2551 ได้ทดลองเปิดโฮมสเตย์ รับนักท่องเที่ยวพักกับครอบครัวเกษตรกร เพื่อแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงและเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน"

นายอุทัยกล่าวต่อว่า กลุ่มที่จะเข้ามาต้องระบุว่าจะเข้ามาเรียนรู้ในด้านใด เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ได้จริง ตรงนี้เราไม่ได้หวังตัวเงินเป็นหลัก แต่หวังให้คนที่เข้ามาเรียนรู้สามารถนำความรู้แนวคิดการจัดการของกลุ่มเครือข่ายฯจากที่นี่นำกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

"วันนี้คนตำบลลำสินธุ์อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีการแบ่งแยกทางการเมือง และคิดไปข้างหน้าเพื่อทำมาหากิน พลังนักต่อสู้ในอดีตแปรเปลี่ยนมาเป็นพลังในการพัฒนาวิถีชีวิตของชุมชน โดยผสมผสานความรู้ของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า ดังเป้าหมายที่วางไว้สร้างชุมชนเข้มแข้ง ครอบครัวอบอุ่น สังคมน่าอยู่ ปลุกสำนึกรักถิ่น เข้าร่วมพัฒนา อย่างจริงจัง ที่จะสรรสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สมาชิกทุกคนในชุมชน"

จากคอลัมน์ ฅนของแผ่นดิน

โดย กันยา ขำนุรักษ์