จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

รัฐบาลเตรียมทุ่มงบสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน


เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2552 เวลา 09.00 น. ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับพี่น้องประชาชนในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 29 ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ซึ่งมี นายเจิมศักด์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในช่วงที่ 2 ของรายการ ได้มีการพูดถึงเรื่องการส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน ใว้ดังนี้




ผู้ดำเนินรายการ
กลับไปถึงประเด็นที่ท่านนายกฯ พูดเมื่อตอนต้นของรายการ พูดถึงว่าจะต้องทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ท่านนายกฯ บอกว่าวันนี้เป็นวันที่เราออกอากาศ ตอนบ่ายจะไปที่สงขลา แล้วจะไปฟังดูเรื่องชุมชนใช่ไหมครับ มีอันหนึ่งที่ชุมชนเคยทำกันไว้นานพอสมควร และได้ยินมาว่ามีถึง 3,000 กว่าชุมชนที่ทำ คือเรื่องการทำชุมชนให้เข้มแข็งโดยการมีสวัสดิการของชุมชน ครูชบ ยอดแก้ว ก็ดีที่สงขลา พระสุบิน ที่จังหวัดตราดก็ดี และมีภูมิปัญญาชาวบ้านที่อื่นทำ รัฐบาลนี้เห็นอย่างไรในเรื่องสวัสดิการชุมชน
นายกรัฐมนตรี คือผมคิดว่าเรื่องสวัสดิการเป็นเรื่องที่ผมอยากสนับสนุน โดยเฉพาะระบบสวัสดิการที่ชุมชนทำ 3 เหตุผล เหตุผลแรกคือว่าผมอยากให้คนไทยทุกคนมีหลักประกัน
ผู้ดำเนินรายการ หมายความว่าขณะนี้ข้าราชการมีแล้ว
นายกรัฐมนตรี ข้าราชการมีแล้ว
ผู้ดำเนินรายการ พนักงานบริษัทมีประกันสังคม
นายกรัฐมนตรี ประกันสังคมมี บางเรื่องทุกคนอาจจะมี เช่น เราบอกรักษาฟรีทุกคน แต่ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การมีเงินในยามชรา ตอนนี้เราให้ได้แค่ 500 บาท ซึ่งผมทราบดีว่าไม่พอ เพียงแค่ 500 บาทให้ทุกคนก็เป็นภาระภาษีอากรพอสมควร ผมอยากให้ทุกคนมีหลักประกัน
ผู้ดำเนินรายการ เกษตรกร และคนที่ทำงาน
นายกรัฐมนตรี อาจารย์ก็ทราบนะครับว่า มีความพยายามหลายครั้งแล้วที่จะขยายประกันสังคม บอกให้ไปถึงคนนอกระบบทั้งหลาย เกษตรกร อาชีพอิสระ ปรากฏทำยากมาก เหตุผลที่ทำยาก อาจารย์ก็คงทราบ คือประกันสังคมต้องหักเงินเดือน ปรากฏว่าคนอื่น ๆ ไม่ได้มีรายได้ประจำแน่นอนอย่างนั้น ไม่ได้มีนายจ้าง ปัญหาคือและอะไรจะทำให้เรามั่นใจว่าเขาใส่เงินเข้าทุกเดือนๆ อันนี้เป็นเรื่องก่อนนะครับ ผมอยากให้ทุกคนมีสวัสดิการ
อันที่ 2 เป็นการส่งเสริมการออม ในอดีตที่ผ่านมา มีแต่ว่าไปแก้ปัญหาโดยรัฐบาลเอาเงินไปให้กู้ ตอนนี้เรากำลังพยายามจะส่งเสริมว่าจริง ๆ เรื่องการออมเป็นเรื่องสำคัญ ระบบสวัสดิการที่เกิดขึ้นในชุมชนก็ดี ประกันสังคมก็ดี หรืออะไรก็ดี มันคือระบบเขาเรียกว่าบังคับออม แต่ละคนอยากจะมีหลักประกัน ก็ต้องยอมหักเงินจ่ายเงินสมทบเข้าไปในกองทุน อาจจะมีแรงจูงใจว่าคุณใส่ 1 รัฐบาลจะใส่ให้อีก 1 ท้องถิ่นจะใส่ให้อีก 1 สุดแล้วแต่ แต่อย่างน้อยที่สุดคือกระตุ้นให้คนมีความรู้สึกว่าได้เงินมาแล้ว อย่าใช้ให้หมด เก็บเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อลงทุนประโยชน์ในอนาคต อันนี้เหตุผลที่ 2
เหตุผลที่ 3 คือว่าโดยเฉพาะระบบสวัสดิการชุมชน คือการทำงานเพื่อเสริมความเข้มแข็งในแง่ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่าทุนทางสังคม คือระบบสวัสดิการชุมชนเกิดไม่ได้ ถ้าไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ใช่ไหมครับ ถ้ามาเบี้ยวกัน มันก็ไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น 3 ส่วนนี้ มันเป็นสิ่งที่ผมถึงบอกว่าผมอยากส่งเสริมให้เกิดขึ้น ทีนี้ที่เขาทำมากันเอง 3,100 ตำบล หรืออะไร ตอนนี้เราก็จะมีแผนการว่าทำอย่างไรในที่สุดครอบคลุมทุกตำบล และเรามีแรงจูงใจเพิ่มคือว่า ถ้าทำกันเอง เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจะช่วยสมทบเงินให้ คือผมก็มองว่าทำไม ทีข้าราชการ ประกันสังคม รัฐบาลยังให้เงินได้ แต่ปรากฏว่าชาวบ้านซึ่งความจริงเขาอาจจะยากจนที่สุดด้วยซ้ำ ยอมเรียกว่าออมวันละบาทบ้าง อะไรบ้าง ทำไมเราสมทบให้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้น อันนี้คือสิ่งที่จะต้องทำ
บังเอิญมันซ้อนกันอยู่นิดหนึ่งคือว่า ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้เสนอมาว่าให้ทำเรื่องการไปสมทบ และสนับสนุนให้ครอบคลุมในหลายพื้นที่มากขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็อยากขยายประกันสังคม กระทรวงการคลัง อาจารย์คงเห็นข่าว เขาก็ไปคิดมาแล้วว่าอยากจะมีระบบบำนาญประชาชน เงินออมภาคประชาชนขึ้นมาว่า ถ้าคนออมเงิน เขาจะสมทบให้เดือนละ 50 บาท 100 บาท อะไรต่าง ๆ ก็ไม่รู้เป็นเพราะวิกฤตหรือเปล่า มาพร้อมกันเลยตอนนี้ ผมก็กำลังดูว่าทำอย่างไรที่มันเดินไปได้ และไม่ซ้ำซ้อนกัน และมาสอดคล้องกัน
ผู้ดำเนินรายการ ขอดูประเด็นแรกก่อนที่ท่านนายกฯพูด คือว่าขณะนี้มีอยู่ประมาณ 3,100 ตำบล ที่เขามีวิธีการที่จะเอาเงินมารวมกันวันละบาท เดือนหนึ่งก็คนหนึ่ง 30 บาท ท่านนายกฯ บอกว่าโมเดลของมันก็คือว่าถ้าเขาลงได้เดือนละ 30 บาท รัฐก็จะออกให้อีก 30 บาท และจะขอให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. หรือเทศบาล ลงอีก 30 บาท ตกลงกองทุนในการที่จะเป็นสวัสดิการก็จะโตขึ้น 3 เท่า จากเดิมที่เขาทำอยู่
นายกรัฐมนตรี ลง 1 เลยงอกเป็น 3
ผู้ดำเนินรายการ อันนี้จากที่เขาทำดีอยู่แล้ว และไปเพิ่มเติมเขา หรือจะเอาเงินไปล่อให้ที่ใหม่ ที่ไม่เคยมี มันจะได้เกิดเหมือนกับสมัยที่เขาทำกองทุนหมู่บ้าน เขาก็หว่านไปพร้อมๆ กัน
นายกรัฐมนตรี กองทุนหมู่บ้านคงเทียบกันไม่ได้ นั่นเป็นระบบการให้สินเชื่อมากกว่า แต่ว่าหลักจะเป็นอย่างนี้ครับ คือว่าจะมาได้รับเงินสมทบ เขาต้องไปทำระบบของเขาให้ได้ก่อน มีการพิสูจน์ให้ได้
ผู้ดำเนินรายการ ระยะเวลาหนึ่ง
นายกรัฐมนตรี ถูกต้องครับ ที่ผมพูดกับอาจารย์เมื่อสักครู่คือว่าระบบแบบนี้เกิดไม่ได้ ถ้าเขาไม่เข้มแข็งเอง และเราก็ไม่อยากจะเอาเงินไปใส่ ในจุดที่ในที่สุดหายไป ระบบล้ม เกิดปัญหาการทุจริตหรืออะไรขึ้นมา สุดท้ายเลยกลายเป็นว่า โครงการดี ๆ ก็ล้มไป เสียชื่อเสียงด้วยที่สำคัญ จะทำให้คนอื่น ๆ ก็ไม่กล้าที่จะทำ เพราะฉะนั้น หลักคือว่าถามว่าเป็นแรงจูงใจไหม ใช่ บอกว่าถ้าเกิดทำได้อย่างนี้นะ รัฐบาลจะสมทบให้ แต่เขาต้องพิสูจน์ตัวเองก่อน ก็จะไปวางหลักเกณฑ์ว่าต้องนานเท่าไหร่ที่เขาสามารถเก็บเงินดูแลบริหารจัดการเงิน มีระบบบัญชีอะไรต่าง ๆ ดีแล้ว รัฐบาลก็ถือว่าอันนี้ได้มาตรฐานที่จะเข้าไปสนับสนุนต่อ
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงโครงการแรกที่ควรจะทำต้องทำจากชุมชนที่เขามีระบบนี้อยู่แล้ว
นายกรัฐมนตรี ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ และพิสูจน์ตัวเองอยู่แล้ว รัฐบาลกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็จะเริ่มเข้ามาที่จะช่วย ทีนี้บางคนก็เลยเริ่มตาโตว่าสวัสดิการที่ว่านี้มันช่วยอะไร ผมเคยเรียนรู้จากครูชบ และคนอื่น ๆ ในชุมชน เพราะผมชอบตระเวนชุมชนมาก่อน เขาก็บอกว่าง่าย ๆ ของชาวบ้านก็คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิดก็คือช่วยเรื่องการคลอด และก็ช่วยให้ของขวัญกับเด็กคลอด แก่คือเงินสวัสดิการสำหรับคนสูงอายุ เจ็บคือเรื่องโรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่ต้องเสียค่ารักษา แต่จะมีคนไปเฝ้าไข้ ค่าเดินทาง เขาก็เอาเงินนี้มาช่วย และตายก็มีฌาปนกิจศพ และบางแห่งเริ่มมีทุนการศึกษาให้ยืมสำหรับเรียนต่อ อะไรทำนองนี้ก็เพิ่มมากขึ้น
นายกรัฐมนตรี เกิดนี่ความจริงที่บอกของขวัญ เราจะได้ช่วยส่งเสริมนะครับ เรื่องไข่ เรื่องนม เรื่องโภชนาการที่ถูกต้องอะไรต่างๆ
ผู้ดำเนินรายการ ทีนี้คำถามก็คือว่าทีดีอาร์ไอก็มีความเป็นห่วงเรื่องบำนาญ คือถ้าผู้สูงอายุ แล้วขณะเดียวกันเราก็ให้กองทุนสวัสดิการนี้จ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือน เกรงว่าชุมชนตำบลหนึ่ง ถ้าเกิดตำบลนั้นสัดส่วนผู้สูงอายุมาก มันจะอยู่ไม่ได้กับเรื่องกองทุนสวัสดิการ ถ้ารัฐไม่ผูกกองทุนเข้าด้วยกันในแต่ละตำบลมันจะไปไม่ได้
นายกรัฐมนตรี คืออย่างนี้นะครับคงต้องไปดูก่อนว่าแต่ละกองทุนที่เขาทำในแต่ละชุมชน เขามีกติกาอย่างไร แล้วจุดหนึ่งที่เราต้องไปดูแน่นอนคือต้องไปคำนวณดูว่า ถ้าเก็บเงินอย่างนี้ และให้สิทธิ์อย่างนี้ มันไปได้หรือเปล่า เพราะผมก็เข้าใจว่ามีหลายแห่งถ้าเข้าไปดูตรงนี้แล้วคงต้องปรับปรุงแก้ไข พูดง่าย ๆ คือว่าตอนนี้ไปได้ แต่ถ้าถึงวันหนึ่งปรากฏว่าจะมีแต่รายจ่ายออก รายได้เข้ามาไม่ทัน ก็จะเป็นปัญหา เพราะฉะนั้น อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ต้องระวัง และได้เตรียมการไว้ว่าต้องมีการไปทดสอบตรงนี้ดู
อันที่ 2 อาจารย์จะเห็นว่าในส่วนของกระทรวงการคลังก็เหมือนกับประกันสังคมคือว่า สิทธิ์ที่จะได้ที่เป็นบำนาญตอนหลัง มันจะผูกติดกับเงินที่เข้าไป คือเงินที่ตัวเองใส่ เงินที่คนอื่นสมทบ และไปหาดอกผลอะไรมา ที่ กบข.ก็เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ช่วงหนึ่ง อันนี้ก็จะเป็นหลักประกัน ผมเองใจผมกำลังจะดูว่าถ้าในกองทุนของชุมชนทำได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลเข้าไปสมทบแล้ว ผมกำลังจะให้กระทรวงการคลังเขาไปลองดูว่า กระทรวงการคลังเดิมจะทำเป็นแบบรายบุคคล จะเปิดโอกาสให้เข้ามาเป็นกลุ่มได้ไหม อาจจะง่ายกว่า เพราะว่าในกลุ่มบางทีก็จะมีใช่ไหมครับ เพราะว่าในกลุ่มของเขาบางทีเงินของคนได้มา รายได้ไม่เท่ากัน ไม่พร้อมกันอะไร เขาจะมีวิธีช่วยเหลือเกื้อกูลกันเอง ขอให้เขามีความเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันได้ ถ้าเขาดูแลได้ เรารับรองเขา แทนที่กำลังจะไปรับว่าเป็นรายบุคคล ทำเป็นรายกลุ่มได้ไหม ผมกำลังให้ไปดู จะได้เข้ามาเชื่อมโยงกันได้
ผู้ดำเนินรายการ หมายความคลังทำระบบที่จะให้กลุ่มทั้งหลาย เหมือนกับเป็นสมาชิกกลุ่ม
นายกรัฐมนตรี แต่แทนที่จะเป็นนายเจิมศักดิ์ นายอภิสิทธิ์ ก็อาจจะไปเป็นกลุ่มเข้ามา เป็นสหกรณ์หรืออะไรเข้ามา
ผู้ดำเนินรายการ ทีนี้ระบบที่ชาวบ้านเขาทำกันอยู่ เขาได้เอื้อเฟื้อกับคนด้อยโอกาส เช่น คนพิการ เด็กกำพร้า พวกนี้ เพราะว่าไม่มีโอกาสที่จะเอามาออมวันละบาท เขาเลยบอกว่าพวกนี้ไม่ต้อง แต่ได้สิทธิเหมือนกัน ทางรัฐบาลคิดว่าอันนี้จะพอทำเหมือนกับที่ชุมชนเขาทำได้ไหม
นายกรัฐมนตรี ก็ได้นะครับ แต่วิธีที่เราอยากให้ทำ หลักคือว่าถือว่าเก็บกันทุกคน แต่ยกเว้นให้บางคน ไม่ใช่ไม่เก็บ
ผู้ดำเนินรายการ เก็บจากทุกคนที่สมัครใจ
นายกรัฐมนตรี คือต้องเป็นสมาชิกเข้ามารวมกัน แต่บางคนเราอาจจะบอกว่าเป็นสมาชิกก็จริง แต่ยกเว้นว่าไม่เก็บ
ผู้ดำเนินรายการ แต่ถ้าคนไหนไม่ต้องการเป็นสมาชิก
นายกรัฐมนตรี ผมว่าอันนี้ไม่ควรนะครับ เพราะถ้าหากว่าเป็นกลุ่ม คือมันจะได้มีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่อย่างนั้นก็กลายเป็นเพียงแต่ผู้รับจากตัวกองทุน ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรด้วยเลย
ผู้ดำเนินรายการ หมายความว่าถ้าเขาไม่ได้เป็นสมาชิก และเขาไม่ประสงค์ที่จะเป็นสมาชิก เขาถือว่าฐานะเขาดีแล้ว ก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอยู่ในกองทุนนี้
นายกรัฐมนตรี อันนี้คือของชุมชน ทีนี้ของที่กระทรวงการคลังทำ ผมได้ให้ข้อสังเกตไปบอกว่าต้องระวังเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่พยายามทำให้ครอบคลุม กลายเป็นว่าคนที่พอมีกำลังก็ออมได้ ก็ได้ประโยชน์ แต่คนที่แย่ที่สุดอาจจะไม่มีเงินออมเลย ก็เลยไม่รู้จะเข้ามาอย่างไร ผมเลยคิดว่าถ้าเกิดเอาตัวกองทุนสวัสดิการชุมชนซึ่งเขาจะพยายามให้ครอบคลุมทุกคนเข้ามา และให้ตัวองค์กรมาเป็นสมาชิกได้ อย่างน้อยคนเหล่านี้จะได้รับการครอบคลุมด้วย กำลังให้กระทรวงการคลังดูอยู่
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯเชื่อหรือเปล่าว่าชุมชนเขารู้กันดี เพราะฉะนั้น เขาจะรู้ว่าใคร หรือชุมชนไหนมีพฤติกรรมอย่างไร ใครเป็นอย่างไร แล้วประสงค์ที่จะมีกิจกรรมอย่างไร และถ้าเกิดรวมตัวเป็นชุมชนแล้ว ต่อไปจะได้เดินไป อย่างเช่น ป่าชุมชนก็ดี การอนุรักษ์แหล่งน้ำก็ดี ชุมชนก็เกิดรวมตัวกันเอง
นายกรัฐมนตรี ผมเชื่ออย่างนั้นอยู่แล้ว เพราะว่าผมไม่มีทางรู้ดีกว่าเขา ผมเอาง่าย ๆ นะครับ ผมเป็นคนที่บริหารงานในส่วนกลาง ผมจะไปรู้ดีกว่าเขาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรื่องนี้จะโยงกลับไป อาทิตย์ที่แล้วผมไม่ทราบว่าอาจารย์ได้ติดตามหรือเปล่า ที่ผมไปดูเรื่องบ้านมั่นคง ก็หลักการเดียวกัน เกิดขึ้นไม่ได้นะครับ ไม่ใช่ว่าผมไปชี้ที่ตรงนี้บอกเอามาทำบ้านมั่นคงและทำได้ ทำไม่ได้ถ้าชาวบ้านไม่มารวมกลุ่มกันก่อน และบอกว่าในชุมชนนี้มีกี่คน อยู่กันมานานเท่าไหร่ ต่อไปนี้มีที่ผืนนี้จะแบ่งกันอย่างไร ระหว่างก่อสร้างที่จะรื้อของคนนั้น เพื่อมาทำตรงนี้ จะอยู่กันอย่างไร ถ้าเขาไม่รู้กันเอง ไม่สามารถที่จะวางระบบได้ เราทำไม่ได้ล่ะครับโครงการ เพราะฉะนั้น อันนี้คือเหตุผลที่ผมบอกว่าความเข้มแข็งของชุมชน มันต้องเป็นพื้นฐานของโครงการเหล่านี้
ผู้ดำเนินรายการ ท่านนายกฯ กลัวไหมว่า พอรัฐบาลเอาเงินเข้าไป องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเอาเงินเข้าไป เจ้าหน้าที่ก็มักจะไปบอกชาวบ้านว่าต้องทำอย่างนั้นสิ ต้องทำอย่างนี้สิ อันนี้กลัวไหมครับ
นายกรัฐมนตรี กลัว !! เพราะผมก็เห็นปัญหาชุมชนพอเพียงที่เกิดขึ้น ก็ยังมีลักษณะที่บางคนพยายามจะเอาโครงการไปให้ชาวบ้านอยู่ และพยายามพูดมาตลอดว่าต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ผมไม่รู้ใช้ถูกคำหรือเปล่า คำว่า “วัฒนธรรม” เอา “พฤติกรรม” ก็แล้วกัน ซึ่งยังมักเกิดอยู่ เราก็ต้องพยายามย้ำ แต่ว่ามันต้องอาศัยหน่วยงานที่เข้าใจการทำงานของชุมชน
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงจะประกาศเรื่องนี้เป็นนโยบายแห่งชาติ หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ผมบอกตรง ๆ นะครับ เวลาบอกประกาศเป็นวาระแห่งชาติ คือประกาศไม่ประกาศไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอะไร และทุกคนเข้าใจและมาร่วมกันทำหรือเปล่า เรื่องนี้พรุ่งนี้ผมไป จริงๆ วันนี้ที่เราคุยกันอยู่กำลังเดินทางไปสงขลา ผมก็จะไปบอกอย่างนี้ล่ะครับว่าขณะนี้กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงต่าง ๆ ทราบดีอยู่แล้ว เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ขอเวลาสักนิดหนึ่งที่จะมาเชื่อมเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต่างคนต่างทำมาต่อกันให้ติด ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะไปสนับสนุนเรื่องเงินสมทบ เรื่องอะไร เขาจะเดินต่ออยู่แล้ว แต่ผมยังคิดว่ามันไม่พอ ผมยังอยากให้มันมาโยงกับระบบการออมหลักของกระทรวงการคลังที่กำลังจะวางต่อไป
ผู้ดำเนินรายการ ตกลงภายในเดือนกันยายนนี้พอจะเห็นไหมครับ เริ่มสิงหาคม
นายกรัฐมนตรี คือการสมทบถ้าใช้เงินคงต้องไปรอประมาณตุลาคมเป็นต้นไป โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องแปรญัตติงบประมาณ
ผู้ดำเนินรายการ เท่าที่ผมลองดูตัวเลขปีนี้ ถ้าจะใช้ก็ใช้ประมาณ 700 กว่าล้าน
นายกรัฐมนตรี 700 กว่าล้าน ใช่ครับ
ผู้ดำเนินรายการ แล้วปีหน้าถ้าขยายออกไปอีก 2,000 ตำบลก็ใช้อีกประมาณ 1,600 ล้าน และอีกปีหนึ่งถ้าขยายออกไป 2,800 ตำบล ก็ใช้อีก 2,200 ล้าน มันก็ไม่หนักหนา
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่ามันไม่ได้เยอะมาก ผมคิดว่าอันนี้ตัดสินใจได้ง่ายที่จะเดิน


จินตนา-วิมลมาส : ถอดเทป

ดาวน์โหลดคลิปวีดีโอรายการ คลิ้กที่นี่ครับ