จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พัทลุง หวั่นพื้นที่เกษตรพัง หากเดินหน้าตั้งนิคมอุตสาหกรรม

ประธานสภาอุตสาหกรรมพัทลุงผวา!! สนง.อุตสาหกรรมจ้าง ม.วลัยลักษณ์ ศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตพื้นที่อุตสาหกรรม หวั่นเขตอุตสาหกรรมรุกพื้นที่เกษตรและขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่เหมาะเป็นเมืองเกษตรกรรม คอยป้อนวัตถุดิบให้โรงงานในจังหวัดข้างเคียง

นายปรีชา อภัยยานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กำลังดำเนินการหาความเหมาะสมในการประกาศเขตพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงซึ่งขณะนี้ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะตามยุทธศาสตร์พัทลุงคือเมืองเกษตรกรรม เนื่องจากทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่เพาะปลูกดังนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับ 1 ที่จะต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบและเข้มข้นมาก หากมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมหาไม่แล้วจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรมและการเพาะปลูกอย่างรุนแรง "พัทลุงเป็นเมืองต้นน้ำที่ซัปพอร์ตไปยังโรงงานอุตสาหกรรมเมืองอื่นๆ ขณะนี้ธุรกิจที่มีลงทุนกันมาก คือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยางพารา และตอนนี้ลงทุนอีก 1โรงงาน ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างของบริษัท เซ้าท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด เป็นบริษัทรับซื้อน้ำยาง แปรรูปอุตสาหกรรมยางแผ่น น้ำยางข้น ที่อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ส่วนพื้นที่ที่ลงทุนด้านอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางพารามาก คือพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.ป่าบอน, อ.แม่ขรีและ อ.ตะโหมด" นายปรีชากล่าว

นายวิวัฒน์ หนูมาก สมาชิกที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล จากจังหวัดพัทลุง แสดงความคิดเห็นว่า "การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครั้งนี้ ขาดความโปร่งใส ทั้งๆที่เป็นโครงการที่อาจส่งผลกระทบและทำให้คนมีส่วนได้ส่วนเสียในวงกว้าง แต่ที่ผ่านมาทำกันแบบเงียบเหลือเกิน มารู้อีกทีก็นำเสนอผลการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้น เห็นว่าต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ และจะเร่งผลักดันให้เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลในพื้นที่ขึ้นมาให้ได้ เพื่อใช้เป็นเวทีในการระดมความคิด และร่วมตัดสินใจ"
สำหรับโครงการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตพื้นที่อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง สืบเนื่องจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง ได้รับการจัดสรรงบประมาณยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นที่ปรึกษาโครงการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และตัวแทนผู้นำท้องถิ่น
โดย : บ่าวนุ้ย