จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

ความล้มเหลวของการนำเงินนำหน้างานพัฒนา

โดย : ชุลีพร ราชเวช (จาก Blog ตอบแทนแผ่นดินเกิด)

จากการที่ได้เข้าไปสัมผัสงานของโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคมและสุภาวะ ในพื้นที่ที่ข้าพเจ้าได้ลงไปรับทราบปัญหาของชาวบ้านหลากหลายอำเภอ รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการฯของจังหวัดที่ยังอ่อนแอ การจะลงไปแก้ไขปัญหาความยากจนของคนเกือบทั้งจังหวัด โดยเอาเงินงบประมาณเป็นตัวตั้งในการดำเนินการของงานพัฒนา ข้าพเจ้าถือว่าล้มเหลว เพราะงบประมาณเกินครึ่งหมดไปกับการบริหารจัดการ การพัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน การวางแผนงาน โครงการ กิจกรรม แต่คนที่ลงมือปฏิบัติจริงมีเพียงส่วนน้อยนิด อีกทั้งยังขาดสภาพคล่องในการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน

ความสำเร็จของงานพัฒนา โครงการความร่วมมือแก้ปัญหาความยากจนฯจะสำเร็จได้ ต้องเริ่มจากภายในองค์กรที่ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจและร่วมมือร่วมใจกันภายในองค์กร ทำความเข้าใจถึงภารกิจ บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และสนับสนุนส่งเสริม ผลึกกำลังกัน เพื่อให้เป้าหมายสำฤทธิ์ผล นอกจากนั้นการใช้งบประมาณก็ต้องดำเนินไปตามแผน คุ้มค่ากับผลงานที่ได้มา ประโยชน์สูงสุดต้องเกิดกับชุมชน ท้องถิ่น ไม่ใช่พวกพ้อง ความสำเร็จของงานโครงการความร่วมมือฯ ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน แล้ววางแผนในการจัดการ "ทุน"ที่มีอยู่ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่ชาวบ้าน ชุมชน และคณะทำงานต้องร่วมกันค้นหา ทุนและ"ศักยภาพ"ของชุมชน โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีอยู่ โดยคณะทำงานโครงการความร่วมมือฯ ควรทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ช่วยในการประสานเชื่อมโยง ก่อให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ เมื่อมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในชุมชน ชาวบ้านรู้จักตนเอง รู้จักรากเหง้าของตนและศักยภาพที่มี รู้วิธีจัดการกับทุนที่มีอยู่ อีกทั้งยังค้นพบสภาพที่แท้จริง(รายรับ-รายจ่าย-หนี้สิน)ชุมชนก็จะพบว่าทุนที่มีอยู่นั้นมากพอที่จะ "พึ่งตนเองได้" และค้นพบทางออก เริ่มที่จะปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีดำเนินชีวิต มีการวางแผนชีวิตมากขึ้น หันมาพึ่งพาตนเอง พึ่งพาอาศัยกันมากขึ้น ทำให้ชุมชนหลุดพ้นจากการคิดแบบพึ่งพา รอความช่วยเหลือจากรัฐผ่านโครงการต่างๆ รองบประมาณจากองค์กรนั้นองค์กรนี้ แต่สุดท้ายชาวบ้านก็ยังยากจนเหมือนเดิม ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาทางโครงสร้างทางความคิด จึงใหญ่เกินกว่าจะใช้เงินมาแก้ (เสรี พงค์พิศ :ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น)

คิดใหม่ ทำใหม่ ยังไม่สาย หันหน้าเข้าหากันมุ่งมั่นกับงานพัฒนาที่แท้จริง ประโยชน์สูงสุดต้องอยู่ที่ประชาชน มิใช่วิธีการละลายงบประมาณไปลงกระเป๋า ประชุม หารือ วางแผน รับประทานอาหาร กาแฟ รับเงินตอบแทน กลับบ้าน....?