จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553

สวัสดีปีใหม่ 2553



ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า "ปี" ไว้ดังนี้

ปี หมายถึงเวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ

ในอดีตวันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ตรงกับเดือนเมษายน

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา

ถึงกระนั้นประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตามชนบท ยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่เหมือนเดิม

ต่อมา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2477 ได้แพร่หลายออกไปยังต่างจังหวัดในปีต่อๆ มา ใน พ.ศ. 2479 ก็มีการจัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน

ในสมัยนั้น ทางราชการเรียกว่า "วันตรุษสงกรานต์"

ต่อมา ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา มีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่ 1มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันขึ้นปีใหม่ เป็นต้นมา

เหตุผลที่ทางราชการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ

1.ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ


2.เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา

3.ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก

4.เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ ได้แก่

1.การทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรู และอุทิศส่วนกุศลผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังเทศน์ ปล่อยปลา ปล่อยนก หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ

2.การกราบขอพรจากผู้ใหญ่และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร

3.การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

4.ประดับธงชาติ จัดเตรียมทำความสะอาดบ้านและที่พักอาศัย

วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดี ที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นให้ดีขึ้น