จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

ประชาคม “ควนรู : ชุมชนต้นแบบแห่งการสร้างสุข”


ท่ามกลางเปลวเพลิงอันร้อนระอุของการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา ที่กำลังแผ่ขยายลุกลามจนกลายเป็นวงจรแห่งความรุนแรงที่ไม่รู้จบสิ้น นักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ศพแล้วศพเล่าต้องสังเวยชีพลง โดยไม่มีทีท่าว่าเมื่อใดจะหลุดพ้นออกไปจากวงจรแห่งความรุนแรงนั้นได้

ต.ควนรู ชุมชนเล็กๆ ชุมชนหนึ่ง ใน อ.รัตภูมิ จ.สงขลา กลับชุ่มเย็นไปด้วยสายธารแห่งมิตรภาพและความสมานฉันท์ สมาชิกของชุมชนดำรงชีวิตอย่างมีความสุขตามอัตภาพ สามารถพึ่งพิงตนเองได้ และไม่มีปัญหาความรุนแรงทางการเมืองอย่างในพื้นที่อื่นๆ นายถั่น จุลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนรู เล่าว่า ที่เป็นเช่นนี้ได้เพราะกระบวนการบริหารงานในเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนนั้นยึดหลักธรรมมาภิบาล เน้นความโปร่งใสและกระบวนการสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยมีภาคีหลักสามฝ่ายได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะฝ่ายบริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะฝ่ายปกครองส่วนภูมิภาค และสภาชุมชนตำบลควนรูในฐานะภาคประชาชน จึงสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับชุมชนได้ มีกองทุนออมทรัพย์ในชุมชนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งทุนในการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้น มีการส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกรวมทั้งจัดตั้งกองทุนสวัสดิการให้กับชุมชนอีกด้วย

“การดำเนินงานทุกอย่างในตำบล ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆ จะต้องผ่านการหารือจากทั้งสามฝ่ายดังกล่าวทุกครั้ง อย่างที่เราเรียกว่า “สามขา” ลำพังการทำงานของ อบต. ฝ่ายเดียว จะไม่มีทางนำสังคมไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ คือชุมชนแห่งความสุข ได้เลย ฉะนั้นวิธีการจึงต้องระดมความร่วมมือของทุกฝ่ายในชุมชน เปิดพื้นที่ให้สมาชิกในชุมชนทุกคนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในแง่ของการแสดงความคิดเห็นและร่วมทำงาน งานต่างๆ ในชุมชนจึงสำเร็จลงด้วยดี ชาวควนรูก็อยู่เย็นเป็นสุขตามอัตภาพ” นายกฯ ควนรูกล่าว

ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็นธรรมดา ฉะนั้นการอยู่ร่วมกันในชุมชนหรือสังคมจึงหนีไม่พ้นจะต้องประสบกับความขัดแย้งอยู่เสมอ เพียงแต่ว่า ชุมชนหรือสังคมนั้นๆ จะมีวิธีจัดการกับความขัดแย้งอย่างไรโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา

“ในกรณีของตำบลควนรูนั้นเราพยายามสร้างในสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองสมานฉันท์” นั่นคือ แทนที่จะมองการเมืองเป็นการต่อสู้ แข่งขันกันเพื่อแสวงหาอำนาจหรือผลประโยชน์ส่วนตน อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงตามมา เรากลับมามองว่าการเมืองคือเรื่องของการเสียสละทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และพยายามหนีไปให้พ้นจากวงจรแห่งความขัดแย้งแบบเดิมๆ พยายามเปิดพื้นที่แห่งความร่วมมือ มีปัญหาอะไรก็หันหน้าเข้ามาปรึกษากัน ผู้นำจะต้องเปิดใจให้กว้าง ต้องพร้อมจะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง พร้อมจะเปิดรับเสียงวิพากษ์วิจารย์จากคนอื่นตลอดเวลา ดังตัวอย่างการคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ อบต. ในสมัยที่ผ่านมา ผู้นำชุมชนต่างๆ ในตำบลควนรูทั้งหมดมาประชุม ปรึกษาหารือกันและเห็นชอบร่วมกันจะให้ผมทำหน้าที่นายกฯ อบต. ต่อไป การเลือกตั้งนายกฯ อบต. ของตำบลควนรูที่ผ่านมาจึงไม่มีคู่แข่ง แต่ในเวทีก็เปิดกว้างให้ทุกคนวิพากษ์วิจารย์ผมเต็มที่ นายกฯ มีจุดอ่อน จุดด้อยตรงไหนบ้างที่ต้องแก้ไข ชาวบ้านก็ว่ามา ผมก็รับปากจะนำมาปรับปรุงตนเองและพัฒนากระบวนการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์สุขของชาวควนรูต่อไป การเมืองในตำบลควนรูจึงสามารถข้ามพ้นไปจากวงจรแห่งความขัดแย้งแบบเดิมๆ ได้” นายถั่น จุลนวล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนรูกล่าวทิ้งท้าย

จะเห็นว่าพื้นที่ตำบลควนรูนั้น เป็นกรณีศึกษาและต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับชุมชนอื่นๆ ทั้งในแง่ของการสร้างสุขภาวะในชุมชนและการสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์ ฉะนั้นเพื่อเป็นการสรุปบทเรียนและประสบการณ์ในการสรรค์สร้างชุมชนแห่งความและสมานฉันท์ของ ต.ควนรู เพื่อถอดเป็นองค์ความรู้ และถ่ายทอด เผยแพร่ ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ต่อไป