จดหมายข่าวขบวนชุมชนสงขลา ฉบับสิงหาคม 2554 Download คลิ้กที่นี่ และติดตามฟังรายการปักษ์ใต้บ้านเรา ทางวิทยุ สวท.สงขลา 90.5 เมกกะเฮิร์ต เวลา 18.00-19.00 น. ทุกวันอังคาร -สวัสดิการชุมชน /ทุกวันพุธ-สภาองค์กรชุมชน


วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

สปกช.จัดเวทีระดมความเห็นหาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร

สปกช.จัดเวทีระดมความเห็นหาแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคมภาคใต้ตอนล่าง

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 ที่โรงแรมเอเชี่ยน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ได้จัดให้มีการประชุมแนวทางการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคมภาคใต้ตอนล่าง เพื่อเป็นกรอบ แนวทางในการดำเนินงานของ สปกช. โดยมีผู้เข้าร่วมเป็น ตัวแทนเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่าง นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานรวมทั้งภาคีต่างๆและ ตัวแทน สปกช. รวมประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ ดร.จิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้อำนวยการ สปกช. ได้แนะนำองค์กร โดยสรุปว่า “สำนักงานส่งเสริมการปฏิรูประบบเพื่อคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชนและสังคม(สปกช.) ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และมีการสนับสนุนการดำเนินการจาก สสส.โดยมีภาคีเครือข่ายภาคเกษตร ภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเกษตรกรรมยั่งยืน การรักษาความมั่นคงทางทรัพยากรและอาหาร นักวิชาการและภาคการเมือง ร่วมบูรณาการระบบการเกษตรใหม่ร่วมกันทั้งระบบ อาทิ ระบบการผลิต การตลาด การเงิน ทิศทางความร่วมมือจากต่างประเทศ การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การศึกษา กฎหมาย เป็นต้น”

โดยขณะนี้ สปกช. อยู่ระหว่างการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อตรากฎหมายรองรับสถานภาพของสปกช. ซึ่งบทบาทของ สปกช. จะมีหน้าที่ศึกษาสถานการณ์ หาแนวทางแก้ปัญหา และเสนอนโยบาย กฎหมายที่เหมาะสมต่อรัฐบาล รวมให้เป็นหน่วยงานให้ความรู้วิชาการเกษตรแก่ประชาชน ส่งเสริมการวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างบทเรียน ข้อเสนอแนะ และเผยแพร่ข้อมูล นวัตกรรม การรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย สุขภาวะที่ดีของผู้ผลิตและผู้บริโภคอาหาร และสร้างการมีส่วนร่วมให้เกษตรกรไทยเข้ามามีบทบาทหามาตรการแก้ไขปัญหา เพราะถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบเกษตรเพื่อให้ประเทศไทยพ้นวิกฤต

ทั้งนี้ในเวทีได้มีการระดมความคิดเห็นและข้อเสนอต่อกระบวนการขับเคลื่อน โดยให้มีการประสานภาคีทุกภาคส่วน ในการพัฒนาระบบเพื่อแก้ไขปัญหาของเกษตร โดยในเบื้องต้นได้มีการตั้งคณะประสานงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ในการประสานงานเพื่อการขับเคลื่อนงาน